ค้นหา

ราชบุรี มีประกวด “พริกบางช้าง” พืชพื้นถิ่นส่วนประกอบสำคัญในการทำอาหารชาววัง

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี
เข้าชม 481 ครั้ง

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 ราชบุรี จัดประกวดพริกบางช้าง และพริกพื้นถิ่นอื่นๆ ภายใต้แนวคิด “นำพริกบางช้างกลับคืนถิ่น” ประจำปี 66 โดยพริกบางช้าง เป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารชาววัง

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 ราชบุรี เปิดเผยว่า ตามที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นในปี 2535 ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จึงได้ทำการรวบรวมพริกบางช้าง ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม จ.นครปฐม และ จ.ราชบุรี เพื่อนำมาคัดเลือก และทดสอบ จนได้ต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพดี

พริกบางช้าง เป็นพืชพื้นถิ่นเก่าแก่ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารตำรับชาววังมาตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพืชที่เจริญได้ดีบนดินเหนียวปนทราย ที่เกิดจากตะกอนน้ำทะเลและน้ำกร่อย ทำให้ผลของพริกมีเนื้อหนา โคนผลใหญ่ ปลายเรียว เนื้อหนา ผิวเรียบมัน ผลอ่อนสีเขียวเข้ม ผลแก่สีแดงจัด รสชาติไม่เผ็ดมาก และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศให้พริกบางช้างที่ปลูกในพื้นที่ อ.อัมพวา อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม และ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI การประกวดพริกบางช้าง จึงเป็นการคัดเลือกลักษณะของสายพันธุ์ที่ดี รวมไปถึงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ ให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้มีการปลูกในพื้นที่ โดยมีการสนับสนุนต้นกล้าพริกบางช้างและพริกพื้นถิ่นอื่นๆ

ทั้งนี้ การประกวดดังกล่าว เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของงานเผยแพร่ระบบ ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ระดับเขต ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่ใกล้เคียงได้รวมตัวกัน เพื่อร่วมกันผลิต และบริหารจัดการ ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าเกษตรร่วมกัน ในรูปแบบของแปลงใหญ่ ภายใต้การดำเนินงาน BCG Model สู่เป้าหมายในการพัฒนาภาคการเกษตรสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม ประสานภูมิปัญญา

ขณะนี้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี มีแปลงใหญ่ที่อยู่ในความรับผิดชอบรวม 480 แปลง มีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมกว่า 20,000 ราย พื้นที่รวมกว่า 300,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ จ.กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี ส่วนผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่นำมาแสดงในงานมี อาทิ แปลงใหญ่มะพร้าว จ.ราชบุรี สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์ แปลงใหญ่มันเลือดนกและแห้ว จ.สุพรรณบุรี แปลงใหญ่กาแฟอราบิกาบนพื้นที่สูง จ.กาญจนบุรี เป็นต้น.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/central/2638801