ค้นหา

อุตุฯ เตรียมประกาศเข้าสู่ฤดูร้อน 5 มี.ค.นี้

กรมอุตุนิยมวิทยา
เข้าชม 326 ครั้ง

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุจะประกาศการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทยประจำปี 2566 ในวันที่ 5 มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นการเข้าสู่ฤดูร้อนช้ากว่าปกติ 3 สัปดาห์ เนื่องจากฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็นนาน คาดปีนี้จะร้อนกว่าปีที่แล้ว อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิจะสูงที่สุด 40-43 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดสุโขทัย ตาก ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ย้ำให้เฝ้าระวังพายุฤดูร้อนในเดือน เม.ย. ที่อากาศร้อนอบอ้าวและร้อนจัด

นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนในวันที่ 5 มีนาคม 2566 โดยเกณฑ์การพิจารณาการเข้าสู่ฤดูร้อนมี 2 องค์ประกอบ ได้แก่ ลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งพื้นที่ประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิวัดได้ตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป ฤดูร้อนปีนี้ เริ่มต้นช้ากว่าปกติ เนื่องจากฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็นต่อเนื่องนาน คาดว่าจะสิ้นสุดฤดูร้อนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมตามปกติ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าฤดูร้อนปี 2566 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.5 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงค่าปกติที่ 35.4 องศาเซลเซียส แต่สูงกว่าปี 2565 ที่อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34 องศาเซลเซียส สำหรับอุณหภูมิสูงที่สุดประมาณ 40-43 องศาเซลเซียส โดยจังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงสุดได้แก่ จ.สุโขทัย ตาก ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิสูงสุด 38-39 องศาเซลเซียส

จากคาดหมายลักษณะอากาศบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงตั้งแต่เริ่มต้นฤดูร้อนไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวันกับมีหมอกหนา โดยที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า จากนั้นจนถึงปลายเดือนเมษายน อากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป รวมทั้งมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่

ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน จะเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุด โดยพื้นที่ที่จะมีอุณหภูมิสูงถึง 40-43 องศาเซลเซียส ได้อยู่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ส่วนภาคกลางและตะวันออก รวมทั้งชายฝั่ง อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 40 – 42 องศาเซลเซียส บริเวณ จ.อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว

สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ ในเดือนเมษายน ซึ่งอากาศร้อนอบอ้าวและร้อนจัด อาจเกิดพายุฤดูร้อน โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกในบางแห่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้ จากนั้นในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ที่เป็นช่วงปลายฤดูร้อน ลักษณะอากาศจะเริ่มแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวในบางช่วงกับจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น

ส่วนสถิติอุณหภูมิสูงสุดในฤดูร้อนย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ปี 2559 มีอุณหภูมิสูงสุดคือ สูงถึง 44.6 องศาเซลเซียสที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อวันที่ 28 เมษายน โดยในเดือนนั้นยังมีอีกหลายจังหวัดที่อุณหภูมิสูงถึง 43-44 องศาเซลเซียสเนื่องจากเป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง ส่งผลให้อุณหภูมิในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกรวมทั้งประเทศไทยสูงกว่าค่าที่เคยตรวจวัดได้ในอดีต

ส่วนอีกปีหนึ่งที่มีอุณหภูมิในฤดูร้อนสูงคือ พ.ศ. 2562 เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีจนถึงช่วงกลางปีเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อนซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีอุณหภูมิสูง แต่ยังต่ำกว่าปี 2559

จากนั้นในพ.ศ. 2564 เกิดปรากฏการณ์ลานีญากำลังปานกลาง ทำให้ในฤดูร้อน อากาศไม่ร้อนอบอ้าวและมีฝนสูงผิดปกติในเดือนเมษายน โดยปรากฏการณ์ลานีญาต่อเนื่องมาในพ.ศ. 2565 เป็นลานีญากำลังอ่อนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ล่าสุดปรากฏการณ์เอนโซกำลังเข้าสู่ภาวะเป็นกลาง แล้วจะพลิกผันเป็นเอลนีโญตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นไป จึงทำให้ปีนี้มีอุณหภูมิสูงกว่าปี 2565 ดังกล่าว

สำหรับภาคใต้ประมาณปลายเดือนมีนาคม-ปลายเดือนเมษายน จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ คลื่นลมทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทยสูง 1-2 เมตร จากนั้นจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมจะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มขึ้นและต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกหนักร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ คลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ในบางช่วงอาจสูง 2-3 เมตร ส่วนทะเลอ่าวไทยยังคงมีคลื่นสูง 1-2 เมตร นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังการก่อตัวของพายุไซโคลนฝั่งอันดามันด้วย

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://tna.mcot.net/environment-1126138