วช. นำนวัตกรรมชีวภัณฑ์แบบสารละลายและแบบเม็ด ผลผลิตจากงานวิจัย ช่วยแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราพืชเศรษฐกิจหลักภาคใต้
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการประยุกต์ใช้นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ได้มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม พร้อม ด้วยนายสุพจน์ อาวาส ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และ สื่อมวลชน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง นายรัตนะ สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ นางสาวขวัญจิต เคียงตระกูล ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจ กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายอับดุลฮาฟิซ สะตีมือมะ เกษตรอำเภอกรงปินัง นายกอเซ็ง ยูโซ๊ะ กำนัน ตำบลสะเอะ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ผู้นำชุมชน และชาวบ้านให้การต้อนรับ ณ บ้านแปแจง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา
นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัย และนวัตกรรมของประเทศโดยมุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัย ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ และเพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ วช. เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อดำเนินการพัฒนานวัตกรรมชีวภัณฑ์แบบสารละลายและแบบเม็ดเพื่อแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่ที่ทำให้ใบยางพาราร่วง เพื่อให้เกษตรสามรถกลับกรีดยางและช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพน้ำยางและถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยใช้พื้นที่โครงการวิจัย คือ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งเกิดผลผลิตที่เป็นองค์ความรู้ทั้งด้านการเกษตร นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์ในรูปแบบสารละลายและแบบเม็ดเพื่อการใช้งานในแปลงยางที่เกิดปัญหาโรคใบร่วง เป็นการยกระดับรายได้ครัวเรือนจากผลผลิตยางพารา ของเกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง กล่าวว่า โรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพารา เป็นโรคที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรชาวสวนยางพาราเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคใต้ ปัจจุบันการเกิดโรคในพื้นที่อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา มีการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ สาเหตุของโรคมาจากเชื้อราที่เข้าทำลายใบยางแก่ และใบยางอ่อน ซึ่งอาการจะเป็นจุดแผลบนใบ ใบจะเหลืองและร่วงในที่สุด ทำให้ผลิตน้ำยางได้ลดลง จากปัญหาดังกล่าวคณะผู้วิจัยจึงลงพื้นที่สำรวจพื้นที่แปลงยางเพื่อทำการวิจัย และเก็บข้อมูล เบื้องต้นพบว่า โรคใบร่วงชนิดใหม่ ทำให้ผลผลิตของยางพาราลดลง 30 – 50% หรือขาดรายได้ 4,000 บาทต่อไรต่อปี คิดเป็น 9.6 หมื่นล้านบาทต่อปีของผลผลิตทั้งประเทศ ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงยาง เบื้องต้น เกษตรกรได้ฉีดพ่นยางด้วยสารเคมีจากเรือนยอดด้วยโดรน ทำให้เกิดการแพร่กระจายในอากาศและสิ่งแวดล้อม จุดนี้คณะวิจัยจึงเริ่มคิดกรรมวิธีการควบคุมโรคใบร่วงด้วย สารชีวภัณฑ์ในรูปแบบสารละลายและแบบเม็ด ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้เอง ซึ่งสารชีวภัณฑ์ที่เกษตรกรใช้ต้องมีคุณสมบัติสามารถควบคุมเชื้อด้วยวิธีการเคลื่อนที่ของสารธรรมชาติอนุภาคเล็กสู่ลำต้นและกระจายทุกส่วนของต้นยางเพื่อกำจัดต้นตอและควบคุมเชื้อโรคได้อย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้ง สารชีวภัณฑ์นี้ยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ต้นยางเพื่อต้านเชื้อได้อีกด้วย
การถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ การใช้นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์ในรูปแบบสารละลายและในรูปแบบเม็ดต่อการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ คณะผู้วิจัยเลือกพื้นที่แปลงยางพาราบ้านแปแจง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ศึกษาชีววิทยา และฟีโนโลยีต่อการอุบัติของโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราในรอบปี รวมถึงพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพนวัตกรรมสารชีวภัณฑ์ในรูปแบบสารละลายและในรูปแบบเม็ดต่อการแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ และนำนวัตกรรมสารชีวภัณฑ์ไปทดสอบประสิทธิภาพของสารชีวภัณฑ์ในสภาพแปลงจริงของยางพารา ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ผลการทดสอบเบื้องต้นด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ทั้งในห้องปฏิบัติการและแปลงตัวอย่างมีผลในทางที่ดี คือเชื้อราลดลงและใบแตกยอดใหม่เร็วขึ้น และสามารถเปิดกรีดยางได้ มีผลผลิตน้ำยาง เปลือกยางนิ่ม กรีดง่าย และมีผลิตยางเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน
จากความก้าวหน้าของโครงการ “การประยุกต์ใช้นวัตกรรมสารชีวภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดในยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้” ณ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา พร้อมกับการทำงานร่วมกับชุมชนภาคการเกษตรของพื้นที่ ได้เริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรม ในการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมในการสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อความเข้มแข็งและยั่งยืน