ค้นหา

‘สวนผลไม้’ ที่ดินว่าง ‘หนุนทำในเมือง’ ก็น่าสน ‘สู้ร้อน-สู้ฝุ่น’

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
เข้าชม 379 ครั้ง

ผู้เขียน : ทีมสกู๊ปเดลินิวส์

เพราะในไทยมีกรณีการปรับปรุงเกี่ยวกับ “ภาษีที่ดิน” ระยะหลัง ๆ มานี้เรา ๆ ท่าน ๆ จึงได้พบเห็น ที่ดินว่างเปล่ากลายเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ทิ้งไว้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในเขตเมือง รวมถึงในกรุงเทพฯ ซึ่งก็มีจุดที่น่าสนใจ ทั้งนี้ กับกรณีภาษีที่ดินนั้นใครชอบใจหรือไม่ชอบใจอย่างไรนั่นก็ว่ากันไป แต่ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ระบุว่าน่าสนใจนั้น ในที่นี้หมายถึงน่าสนใจในมุมของการ “ลดภัยร้อน-ลดภัยฝุ่น” และวันนี้ก็พลิกแฟ้มข้อมูลน่าสนใจในมุมนี้มาสะท้อนเน้นย้ำ

“เพิ่มพื้นที่สีเขียว” พูดกันมาก-มีไม่มาก

“เพิ่มโดยหนุนใช้ที่ดินว่างเปล่า” น่าสน..

ซึ่ง “ใช้ปลูกไม้ผล” นี่ “มีงานวิจัยชี้ว่าดี”

ทั้งนี้ เรื่องนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เคยสะท้อนต่อข้อมูลไว้บ้างแล้วเมื่อเดือน เม.ย. ปี 2562 และวันนี้พลิกแฟ้มมาเน้นย้ำไว้อีกโดยสังเขปในยุคที่ภัยร้อนยิ่งรุนแรง-ภัยฝุ่นยิ่งอันตราย โดยเรื่องนี้เป็นข้อมูลจาก “โครงการวิจัยภูมิทัศน์สวนในบางกอก : การศึกษาคุณค่าด้านนิเวศวิทยาของสวนผลไม้ในการเป็นป่าในเมืองบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” โดยการสนับสนุนของ สกว. หรือ สกสว. ในปัจจุบัน งานวิจัยนี้จัดทำไว้โดยมี รศ.ดร.ม.ล.วุฒิพงษ์ ทวีวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการซึ่งโฟกัสที่พื้นที่เมืองหลวงและจังหวัดรายรอบ แต่ถ้าปรับใช้ในพื้นที่เขตเมืองอื่น ๆ ได้ก็น่าสนใจเช่นกัน

โดยสังเขปเกี่ยวกับความน่าสนใจของเรื่องนี้ จากข้อมูลโครงการวิจัยได้ระบุไว้ว่า… องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า…เมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ซึ่งกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่าเกณฑ์นี้มาก และแม้จะมีนโยบาย “เพิ่มพื้นที่สีเขียว” แต่ การสร้างสวนสาธารณะใหม่ก็ไม่สามารถตอบสนองได้ทันกับการขยายตัวของพื้นที่เมืองซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายปีมานี้ผู้คนจึงเผชิญ “วิกฤติมลพิษ” อย่างต่อเนื่อง…

“อากาศร้อนขึ้น” ใช้แอร์มากขึ้น “ยิ่งแย่”

และยุคนี้ “ฝุ่น PM 2.5” ก็ “น่ากลัวมาก”

กับงานวิจัย “สวนผลไม้ในการเป็นป่าในเมือง” นั้น…มีการระบุไว้ว่าถ้าหากศึกษาประวัติศาสตร์พื้นที่กรุงเทพฯ จะพบว่ากายภาพพื้นที่มีความสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำ มี “พื้นที่สีเขียวดั้งเดิม” คือ “พื้นที่การเกษตร” โดยเฉพาะ “สวนผลไม้” อย่างไรก็ตาม ช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อเมืองเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรในพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ทำให้ “พื้นที่สีเขียวดั้งเดิมอย่างสวนผลไม้ลดหายไป”

ถามว่า… “สวนผลไม้ในเมืองจะทำหน้าที่เป็นป่าในเมืองได้หรือ??” ประเด็นนี้ข้อมูลจากโครงการวิจัยดังกล่าวมีการระบุไว้ว่า… จากการศึกษาพบว่า “จุดเด่น” ของ “สวนผลไม้” ที่มีลักษณะเป็น “พื้นที่สวนยกร่อง” และมีการ “ปลูกไม้ผลยืนต้นแบบผสมผสาน” หลายชนิดนั้น “มีคุณค่าในเชิงนิเวศสูงมาก” โดยมีคุณสมบัติที่สามารถเป็นป่าในเมืองได้และก็เป็นไปตามเกณฑ์กรอบอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) อีกด้วย

“มีคุณค่าด้านเศรษฐกิจกับชีวิตความเป็นอยู่, มีคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมกับระบบนิเวศ และมีคุณค่าด้านสังคมกับวัฒนธรรม” คือ “ประโยชน์ 3 ด้านสำคัญของสวนผลไม้ในเมือง” ที่ตรงตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ

จากข้อมูลโครงการวิจัยภูมิทัศน์ฯ หรือการศึกษา “คุณค่าของสวนผลไม้ในการเป็นป่าในเมือง” ดังกล่าวนี้ ก็ยังมีการระบุไว้อีกว่า… คุณค่าของการมี “สวนผลไม้ในเมือง” มีทั้งคุณค่าด้านเศรษฐกิจ คุณค่าด้านชีวิตความเป็นอยู่ เป็นแหล่งผลิตอาหารให้คนบริโภคและใช้ประโยชน์ และมีคุณค่าด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยการมีพื้นที่สีเขียวมาก ๆ จากการมีสวนผลไม้ในเมือง ประชาชนพบเห็นสวนผลไม้ได้ในเมือง ก็จะ สามารถช่วยลดความเครียดให้ประชาชนในเมือง ได้

ขณะที่ คุณด้านสิ่งแวดล้อม-คุณค่าด้านระบบนิเวศ นั้น… สวนผลไม้ในเมืองจะช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และช่วยปรับภาวะภูมิอากาศในเมือง เช่น “ช่วยให้อากาศร้อนลดลง” ช่วยให้ร่มรื่นร่มเย็นเพิ่มขึ้นได้

และแน่นอน…ปลูกไม้ผลก็ปลูกต้นไม้

ต้นไม้มากก็ “ช่วยกรองฝุ่นพิษ” ได้มาก

ด้วยคุณค่าดังกล่าว…ทางโครงการวิจัยฯ ก็จึงมีการเสนอแนะไว้ โดยระบุว่า… การสร้างสวนธารณะใหม่อย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จึงอยากเสนอให้ภาครัฐเร่งอนุรักษ์พื้นที่สวนผลไม้ดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด ควบคู่กับการส่งเสริมเพิ่มพื้นที่สวนผลไม้ในเมืองให้มากขึ้น …ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เองก็ขอเสริมไว้ด้วยว่า…นอกจากกับพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เขตเมืองในจังหวัดใด ๆ ก็ตาม…กับ “ที่ดินว่างเปล่าที่ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์” หากภาครัฐมีการ “สนับสนุนส่งเสริมให้ใช้เป็นพื้นที่สวนผลไม้” หาก “ทำได้โดยทั่วไป…ก็น่าจะดี”…

หลัง ๆ ที่ดินวางเปล่าไม่น้อยมีการปลูกนู่นนี่นั่นทิ้ง ๆ ไว้แบบแสร้งว่ามีการใช้ประโยชน์ที่ดิน?? ถ้า “ส่งเสริมให้ใช้ที่ดินว่างเปล่าทำสวนผลไม้จริงจังโดยเลี่ยงใช้เคมี” ได้ เช่นนี้เจ้าของที่ก็ไม่ต้องกังวลภาษีที่ดิน และสภาพแวดล้อมก็จะดี

“สวนผลไม้ในเมือง” แม้ไม่ง่ายแต่น่าคิด

“ถ้าส่งเสริมได้-ทำได้” ยิ่งมากยิ่ง “ดีแน่”

เพราะเรื่องนี้…“มีคุณค่าหลายสถาน”

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/articles/2071919/