ค้นหา

เกษตรกรอุทัยธานี ปลูกถั่วแระญี่ปุ่นแทนทำนาปรัง ชี้ใช้น้ำน้อยแต่ผลตอบแทนดี

นายวันชัย ชีวระ
เข้าชม 589 ครั้ง

เกษตรกรที่ อ.หนองฉาง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ปลูกถั่วเหลืองฝักสด หรือถั่วแระญี่ปุ่น แทนการทำนาปรัง แค่ 70 วันก็ส่งออกขายมีบริษัทมารับทำให้เงินสะพัดจากการปลูกมีเงินหมุนเวียนในชุมชนนับ 10 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ดูชุมชนหนึ่งที่ อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ที่มีการปลูกถั่วเหลืองฝักสด หรือถั่วแระญี่ปุ่น ส่งออกขายทำให้มีเงินสะพัดจากการปลูก ถั่วแระญี่ปุ่น หมุนเวียนในชุมชนกว่าหลายสิบล้านบาท

นายวันชัย ชีวระ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผู้ปลูกถั่วเหลืองฝักสด อุทัยธานี กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นปีทองของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของเราเลย โดยการส่งเสริมให้ เกษตรกรปลูกถั่วเหลืองฝักสดหรือถั่วแระญี่ปุ่น ในฤดูแล้งนี้ เพื่อทดแทนการทำนาปรัง เริ่มปลุกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นมา ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 1 หมื่น 5 พันไร่ แต่ปีนี้ได้โควตาการปลูกเพียง 2,700 ไร่ มีเกษตรกร 110 รายในกลุ่ม ปลูกใน 2 อำเภอ คือ อ.หนองฉาง และ อ.ลานสัก เพราะถั่วเหลืองฝักสด เป็นพืชต้องการน้ำน้อย อายุเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 68 – 70 วันเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับข้าวนาปรัง ถั่วเหลืองฝักสดใช้น้ำเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ในขณะที่อายุเก็บเกี่ยวข้าว 120 วัน แต่ ถั่วแระญี่ปุ่น สั้นกว่านั้น แถมมีผลผลิตที่ดีมีรายได้สูงกว่า

สำหรับพื้นที่เพาะปลูกถั่วแระญี่ปุ่น เกษตรกรในกลุ่มปลูกน้อยที่สุดใช้พื้นที่ 10 ไร่ และปลูกมากที่สุดเป็น 100 ไร่ ในปีนี้ถือเป็นปีทองของเกษตรกรเลย เนื่องจากได้ผลผลิตที่สูงขึ้นกว่าทุกปี ทั้งนี้เพราะจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ไม่ร้อน ไม่แล้งเหมือนกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับสภาพอากาศปีนี้หนาวเย็นนาน จึงทำให้ได้รับผลผลิตสูง ผลตอบแทนก็สูงตามไปด้วย เกษตรกรแต่ละรายจะมีรายได้นับแสนบาท รวยกันไปเลยทีเดียว ที่สำคัญถั่วเหลืองฝักสด หรือ ถั่วแระญี่ปุ่น เป็นพืชที่มีตลาดนำการผลิต ก็คือ จะมีภาคเอกชน มาทำสัญญารับซื้อในราคาประกัน ตั้งจุดรับซื้อในพื้นที่ จึงทำให้เกษตรกรแต่ละรายมีรายได้ที่ดี

ในส่วนของการเก็บเกี่ยว จะใช้นวัตกรรมใหม่ใช้เครื่องจักรกลเก็บเกี่ยว โดยก่อนการเก็บเกี่ยว จะมี จนท.ทำการเก็บตัวอย่างทุกแปลง เพื่อตรวจสอบสารเคมีตกค้าง ถ้าพบแปลงไหนพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานตามที่กำหนด ก็จะยังไม่รับซื้อ หลังเก็บเกี่ยวแล้ว เกษตรกรจะนำขึ้นรถ ไปที่จุดคัดแยกนำของเสียออกเพื่อคัดเมล็ดที่สมบูรณ์ตามความต้องการเท่านั้นและถือว่าเป็นการตรวจ QC เบื้องต้น จากนั้นจะนำขึ้นรถบรรทุกส่งไปยังรับซื้อ ซึ่งแรงงานในพื้นที่ที่มารับจ้างได้ค่าแรงวันละ 300 บาท มีรายได้จากการว่างงานถึง 2 เดือน คิดเป็นมูลค่าแล้วหลายล้านบาท ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี

จากนั้นบริษัทภาคเอกชนที่มาดำเนินการรับซื้อผลผลิตทั้งหมด ก็จะรวบรวมผลผลิตที่ได้ในแต่ละวัน เข้าสู่กระบวนการเป็นถั่วเหลืองฝักสดแช่แข็ง ส่งเป็นสินค้าออกไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้รับประทานสด เป็นที่นิยมบริโภคในครัวเรือน สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้นถือเป็นประเทศที่เข้มงวดกวดขันผลผลิตการเกษตรที่นำเข้า จะต้องมีความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างเป็นพิเศษ เพื่อปกป้องให้พลเมืองในชาติของเขามีสุขอนามัยที่ดีน่าดีใจจริงๆ นับเป็นความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่ช่วยกันปลูกถั่วแระญี่ปุ่นอย่างดีคุณภาพดี จนเป็นของส่งออกไปให้คนญี่ปุ่นได้กินโดยฝีมือคนไทยอีกด้วย

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/central/2643753