ผู้เขียน อัสวิน ภักฆวรรณ
คุณกันตินันท์ กิมาคม อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 112 หมู่ที่ 9 ตำบลหารเทา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง บอกว่า เดิมนั้นทำฟาร์มสุกรเลี้ยงสุกรหรือหมูหลุมมาก่อน แต่ต่อมากลุ่มอาหารและพันธุ์สุกรราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก จึงไม่คุ้มทุนก็ได้เลิกราไป แล้วก็หันมาลงทุนเลี้ยงทำวัวหลุมต่อ ทั้งนี้ ได้เริ่มเลี้ยงทำวัวหลุมมาแต่ปี 2555 จนถึงขณะนี้ ปรากฏว่าสร้างรายได้ที่ดี เพราะได้ทำปุ๋ยจากวัวทั้งไว้ใช้เองในการทำเกษตรและออกขายให้กับเกษตรกร ทั้งนำไปใส่สวนยางพารา สวนสะละ สวนผลไม้ต่างๆ ด้วย
“เลี้ยงวัวที่มีอยู่จำนวน 11 ตัว มาทำเป็นวัวหลุม โดยการสร้างเรือนปูคอกด้วยซีเมนต์ทำพื้นที่ให้สูงขึ้นจากพื้น เพื่อได้เก็บมูลวัวเวลาวัวถ่ายทั้งอุจจาระและปัสสาวะปะปนกันไป แต่ต้องนำวัตถุดิบมารองคอกวัวไว้ก่อนทั้งขี้ไก่ แกลบข้าว แกลบดิบ ขี้เลื่อย นำวัวมาอยู่เลี้ยงในคอก แล้ววัวก็ถ่ายมูลลง แล้วก็รดน้ำหมัก พด.2 ของหมอดิน ราดซ้ำด้วยอีเอ็ม นำรำมาหว่าน เติมวัตถุดิบลงไป เศษหญ้า หยวกสับ ฯลฯ รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 12 ชนิด”
คุณกันตินันท์ บอกด้วยว่า วัวที่อยู่ในคอกก็เดินย้ำย้ำเท้า วนเวียนไปมาตามประสาวัวจนผสมปนกันจากส่วนต่างๆ แล้วมาเป็นปุ๋ยสำเร็จ โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน แล้วนำมาบรรจุใส่กระสอบพร้อมจำหน่ายและใช้เอง ซึ่งตนเองมีสวนยางพารา สวนไม้ผล ฯลฯ จำนวนหนึ่ง และส่วนหนึ่งก็จำหน่าย พร้อมกับย้ายวัวไปอีกคอกที่ทำรองรับไว้แล้วเพื่อผลิตปุ๋ยต่อ โดยไม่มีว่างเว้น
สำหรับการผลิตปุ๋ยใช้เองได้ลดต้นทุนไปมาก ส่วนที่ออกขายก็หมดไม่เหลือสต๊อกเอาไว้ในแต่ละเดือน แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่
วัวหลุมนั้นจะได้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 250 กระสอบต่อเดือน และถึง 270 กระสอบต่อเดือน โดยออกขายราคากระสอบละ 70 บาท จากเดิมที่ขายกันอยู่ 50 บาทต่อกระสอบ เพราะว่าปุ๋ยของตนเองนั้นมีส่วนผสมถึง 12 ตัว และวัตถุดิบทำปุ๋ยราคาสูงขึ้นทุกตัวด้วย
โดยรวมแล้ว วัวหลุมจะได้ผลผลิตประมาณ 2,500 กระสอบต่อปี พูดถึงรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 17,000 บาทกว่า แต่ถ้าเป็นปี 175,000 บาท แต่ทั้งนี้ ยังไม่ได้หักต้นทุนการผลิต ทั้งค่าแรง ค่าวัตถุดิบ อุปกรณ์
ขณะเดียวกัน วัวหลุมจำนวน 11 ตัว โดยในเวลาระยะ 1 ปี ก็จะมีรายได้จากการออกขายวัวไม่น้อยกว่า 5 ตัว ราคาตัวละ 15,000-20,000 บาท โดยแต่ละตัวตนเองจะมีกำไร รวมเป็นเงินทั้งต้นทุนและกำไรประมาณ 100,000 บาท ทั้งขายปุ๋ยและขายวัว รวมๆ เป็นเงินกว่า 270,000 บาทต่อปี
คุณกันตินันท์ ยังบอกอีกว่า ตนเองยังทำสวนยางพารา สวนสละ และกับสวนผลไม้อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ก็ใช้ปุ๋ยวัวหลุม ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการทำสวนยางพาราไปมาก อีกทั้งน้ำยางสดของยางพาราก็ให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและยังได้เปอร์เซ็นต์น้ำยางสดที่ดีด้วย ในส่วนของการทำสวนไม้ผลก็งอกงามผลผลิตดี ก็มีรายได้ที่ดีเช่นกัน
“การเลี้ยงวัวหลุม จึงเป็นโอกาสที่ดีในยามนี้ เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ อีกทั้งได้ลดต้นทุนการผลิตในการทำการเกษตรของเกษตรกรได้มาก และเราก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดี เกษตรกรผู้ที่สนใจจะเลี้ยงวัวหลุมสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 063-072-0501” คุณกันตินันท์ กล่าว