ค้นหา

เกษตรกรอินทรีย์ดีเด่นแห่งชาติ จุดเริ่มจากอาหารปลอดภัย

นายธนิต สมแก้ว
เข้าชม 339 ครั้ง

นายธนิต สมแก้ว เกษตรกรเจ้าของสวนมังกรทอง ต.ท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง ผู้ได้รับการคัดเลือกจากกรมวิชาการเกษตรให้เป็นได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาเกษตรอินทรีย์ประจำปี 2566 เผยว่า เดิมประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจมานานกว่า 30 ปี เมื่อเกษียณ อยากจะมีอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษไว้บริโภค เนื่องจากอาหารที่จำหน่ายในท้องตลาดมีสารเคมีตกค้างมาก จึงมีความคิดที่จะเปลี่ยนความกลัวในการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยมาสู่การทำการเกษตรที่ปลอดภัยด้วยตนเอง

“ได้เอาความรู้ที่ได้ศึกษามาและสอบถามจากผู้รู้ในพื้นที่นำมาใช้ พร้อมกับเริ่มวางแผนผังและระบบน้ำภายในแปลง ส่วนการปลูกพืชนั้นได้แยกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ไว้บริโภคและลดรายจ่าย กับส่วนที่ไว้สร้างรายได้ในครัวเรือน พร้อมกับติดต่อศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง กรมวิชาการเกษตรเพื่อขอรับรองแหล่งผลิตพืช GAP โดยได้รับการรับรองพืช มะละกอ ตะไคร้และกล้วยหอม หลังจากนั้นได้ขอปรับเปลี่ยนพื้นที่เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์จนได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในปี 2564”

เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาเกษตรอินทรีย์ประจำปี 2566 บอกว่า ดินเป็นหัวใจของการปลูกพืช หากมีธาตุอาหารในดินที่เพียงพอจะทำให้พืชเจริญเติบโตดี แข็งแรง ต้านทานต่อโรคและแมลง ถือปัจจัยสำคัญที่เป็นองค์ประกอบในการผลิตพืชอินทรีย์มีคุณภาพ ปัญหาที่พบดินที่สวนมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีความเป็นกรดสูง จึงทำการปรับปรุงดินโดยเติมอินทรียวัตถุไร่ละ 6 ตัน และยังผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขยะอินทรีย์ภายในแปลงใช้เองซึ่งผลิตได้ปีละ 300 ตัน

นอกจากนี้ยังมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่งและลดการชะล้างหน้าดิน ปลูกพืชตระกูลถั่ว ปอเทืองและเลี้ยงแหนแดง เพื่อปรับปรุงดิน รวมทั้งยังมีการเติมน้ำหมักจุลินทรีย์ท้องถิ่นร่วมกับปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงดินอีกทางหนึ่งด้วย และผลจากการปรับปรุงบำรุงดินอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พืชมีความสมบูรณ์และให้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะมะละกอ มีรสหวานฉ่ำ และมีกลิ่นหอม จนร้านค้าในจังหวัดให้ฉายาว่า “papaya aroma”

ส่วนการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช นายธนิต บอกว่า เน้นการป้องกัน มีการสำรวจการระบาดของศัตรูพืชและสภาพการเจริญเติบโตของพืช ใช้จุลินทรีย์ธรรมชาติและน้ำหมักจุลินทรีย์ 7 ชนิด เพื่อป้องกันศัตรูพืช เช่น น้ำหมักพืช น้ำหมักผลไม้สุก น้ำหมักสมุนไพร น้ำหมักนมเปรี้ยว น้ำหมักเปลือกไข่ น้ำหมักกระดูกสัตว์ น้ำหมักรกหมู เพราะน้ำหมักแต่ละประเภทจะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน โดยใช้น้ำหมัก 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร และเชื้อราขาวฉีดพ่นทุก 6 เดือน รวมทั้งยังปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรชีวิตของศัตรูพืช และกำจัดวัชพืชเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของศัตรูพืช

“การจัดการผลผลิตมีการควบคุมคุณภาพผลผลิตให้ได้ขนาด เก็บเกี่ยวผลผลิตตามอายุที่เหมาะสมของพืชและผลผลิตมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดและรสชาติดี ไม่มีการปนเปื้อนในระหว่างการจัดการผลผลิต ภายในแปลงจะมีห้องสำหรับทำความสะอาด และห้องคัดแยกเกรดผลผลิตในโรงคัดแยกที่สะอาด คัดแยกผลผลิตที่เสียหายและไม่ได้คุณภาพออกก่อนนำไปจำหน่าย ล้างผลผลิตด้วยน้ำสะอาด และห่อผลผลิตด้วยวัตถุกันกระแทกก่อนบรรจุลงกล่อง พร้อมกับหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ มะละกอและกล้วยหอมเกรด A จะส่งขายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าในพื้นที่ เกรดรองลงมาจะขายให้กับพ่อค้าทั่วไป ส่วนผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพจะนำไปทำปุ๋ยหมักและเป็นอาหารสัตว์ในสวน” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาเกษตรอินทรีย์ประจำปี 2566 กล่าว.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/south/2692800