ผู้เขียน สุรเดช สดคมขำ
ปัจจุบันการทำเกษตรอินทรีย์ (ออร์แกนิก) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคของประเทศไทย เพราะด้วยกระแสรักษ์สุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ จึงทำให้สินค้าอย่างเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาด และมีแนวโน้มว่าตลาดค่อนข้างที่จะเติบโตไปได้เรื่อยๆ ในอนาคต ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์นั้น ไม่ได้มีแต่ในเรื่องผลผลิตที่ได้จากพืชเพียงอย่างเดียว
ในภาคของการเลี้ยงสัตว์เองก็สามารถผลิตเป็นสินค้าอินทรีย์ได้เช่นกัน อย่างเช่น ไก่ไข่อินทรีย์ นมออร์แกนิก กุ้งและปลาออร์แกนิก และการเลี้ยงสัตว์แบบออร์แกนิก โดยการทำเกษตรอินทรีย์นั้น สารชีวภัณฑ์ที่เป็นปัจจัยการผลิต ที่มาช่วยควบคุมดูแลถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องมาจากสารชีวภัณฑ์ที่มีพื้นฐานงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ สามารถนำมาใช้ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะนอกจากจะช่วยให้การทำเกษตรอินทรีย์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ยังให้ผลผลิตต่อไร่ที่ดีขึ้นอีกด้วย
รศ.ดร.เกษม สร้อยทอง อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสมาคมเทคโนโลยีการเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Agricultural Technology in Southeast Asia, AATSEA) กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยการผลิตคือผลงานวิจัยเรื่อง คีโตเมี่ยม เป็นผลงานวิจัยเรื่องยาเชื้อป้องกันกำจัดโรคพืชและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งได้มีการวิจัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน
โดยการค้นพบสารออกฤทธิ์ชนิดใหม่จากเชื้อรา Chaetomium globosum, Chaetomium cupreum, Chaetomium cochliodes, Chaetomium brasiliense, Chaetomium lucknowense, Chaetoimum elatum, Chaetoimium siamesnse ถือว่าประสบผลสำเร็จในการใช้สารออกฤทธิ์ดังกล่าวฉีดพ่นเข้าไปในเซลล์พืช ชักนำให้พืชสร้างสารขึ้นมาต่อต้านโรค (phytpalexin) ได้แก่ มะเขือเทศ พริก ทุเรียน ส้ม และข้าว เป็นต้น
จากนั้นจึงได้พัฒนาสารออกฤทธิ์แต่ละชนิด ให้มีอนุภาคเล็กลงในระดับที่เรียกว่าโมเลกุล เรียกว่า นาโนอลิซิเตอร์ สร้างภูมิคุ้มกันโรคพืช ประสบผลสำเร็จและนำไปใช้จริงแล้วในประเทศจีน เวียดนาม พม่า ลาว และไทย ซึ่งนาโนอลิซิเตอร์เป็นสารออกฤทธิ์ที่พัฒนาเป็นอนุภาคระดับโมเลกุล โดยปล่อยสารเข้าสู่สนามแม่เหล็ก และยิงด้วยอิเล็กตรอน สามารถซึมผ่านเข้าสู่เซลล์ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพสูง ชักนำให้พืชเกิดภูมิคุ้มกันโรคให้กับพืช ซึ่งเป็นนวัตกรรมวิจัยเพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่
รศ.ดร.เกษม ยังบอกอีกด้วยว่า สารชีวภัณฑ์อย่างคีโตเมี่ยม ถือเป็นผลงานวิจัยเรื่องยาเชื้อป้องกันกำจัดโรคพืชและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยการผลิตจะทำเป็นชนิดเม็ดละลายน้ำ ชนิดผงละลายน้ำและชนิดเหลว จากเชื้อราคีโตเมี่ยม คิวเปรม 10 สายพันธุ์ ได้แก่ (Chaetomium cupreum CC01-CC10) คีโตเมี่ยม โกโบซัม 12 สายพันธุ์ (Chaetomium globosum strain CG1-CG12) ซึ่งคีโตเมี่ยมเป็นชีวผลิตภัณฑ์ที่วิจัยพัฒนาให้เกษตรกรนำไปใช้ในการควบคุมโรคพืชให้ต่ำกว่าระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจ เพื่อทดแทนสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช
คีโตเมี่ยมเป็นผลงานวิจัยขึ้นทะเบียนเป็นสารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคพืชครั้งแรกของประเทศไทย ใน พ.ศ. 2539 และจดสิทธิบัตรของนักวิจัยไทยคนแรกของโลก เมื่อ พ.ศ. 2537 ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์แห่งชาติจากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสภาวิจัยแห่งชาติและรางวัลวิจัยดีเด่นจากกองทุนวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (IFS, Sweden) รางวัลจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ (Univertsity of the Philippines at Los Banos)
ลักษณะการทำงานของคีโตเมี่ยม
คีโตเมี่ยม มีผลต่อการป้องกันโรคที่ระบบราก เช่น โรครากเน่า โรคเหี่ยว ใช้ในขณะที่พืชไม่เป็นโรคและสามารถรักษาโรคได้ (พืชเป็นโรคแล้ว กำลังแสดงอาการโรค เช่น รากเน่า เน่าคอดิน เป็นต้น กรณีนี้หากรากเน่าหมดแล้วก็ไม่สามารถช่วยต้นพืชได้ เพราะพืชกำลังจะตาย)
อย่างไรก็ตาม การนำคีโตเมี่ยม ไปใช้จำเป็นจะต้องตรวจสภาพ pH ของดิน แล้วปรับสภาพดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพและฮิวมัส ใส่บนดินบริเวณใต้ทรงพุ่มรอบต้น ค่า pH จะค่อยๆ ปรับขึ้นจนเป็นกรดอ่อน (ประมาณ 6.6-6.8) รดน้ำให้ชุ่มสม่ำเสมอ เมื่อคีโตเมี่ยมได้รับความชื้นจะค่อยๆ ละลายปลดปล่อยสปอร์ออกมาสู่ดินที่กำลังสภาพ เช่น จาก pH 3.0 เป็น 6.0 สามารถเจริญได้ดีที่สภาพดินที่มี pH 3-7 แต่เจริญได้ดีที่สุดในสภาพดินที่มี pH 6.0-6.5
สปอร์คีโตเมี่ยมเป็นสิ่งมีชีวิตจะได้รับอาหารจากการดูดซับสารละลายจากปุ๋ยอินทรีย์หรือสารอินทรีย์ต่างๆ แล้วปลดปล่อยสารปฏิชีวนะออกมาฆ่าเชื้อสาเหตุโรคในดิน ดินที่ปรับสภาพดี ที่ปุ๋ยอินทรีย์ซึมซับไปทั่วระบบราก คีโตเมี่ยมจะสามารถเจริญได้ตั้งแต่ผิวหน้าดินลงไปจนถึงระดับความลึก 60 เซนติเมตร นับว่าเป็นข้อได้เปรียบกว่าการใช้สารเคมีป้องกันโรค ใส่ลงไปตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น คีโตเมี่ยมในดินจะไปไล่จับเชื้อสาเหตุโรค เปรียบเสมือนแมวไปไล่จับหนู เมื่อเชื้อสาเหตุถูกทำลายก็มีผลให้ลดเชื้อก่อโรคในดิน และเชื้อก่อโรคในดินที่เหลืออยู่จะอ่อนแอไม่สามารถเข้าทำลายพืชได้ ในทางปฏิบัติจะต้องใช้อย่างต่อเนื่อง โดยใส่ทางดินรอบโคนต้นทุก 3-4 เดือน
นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัย ชีวภัณฑ์กำจัดแมลง ชีวภัณฑ์กำจัดไส้เดือนฝอย ชีวภัณฑ์ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงจุลินทรีย์ย่อยสลายเศษซากพืชสัตว์และแร่ธาตุ เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพสูตรต่างๆ ทดแทนปุ๋ยเคมี เป็นต้น
การทำเกษตรอินทรีย์ ใจที่พร้อมเปลี่ยนคือสิ่งสำคัญ
สำหรับเกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินรทรีย์ รศ.ดร.เกษม บอกว่า การปรับเปลี่ยนที่สำคัญต้องเริ่มมาจากใจก่อน โดยผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรถ้ามีใจมุ่งมั่นแน่วแน่แล้วว่า จะไม่เอาสารเคมีเข้ามามีบทบาทในการทำการเกษตร ถ้ามีใจนำหน้าแล้วสามารถค่อยๆ ปรับเปลี่ยนได้ทันที ซึ่งทางคณะทำงานของอาจารย์จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสอน เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรที่ได้ผลผลิตที่ดี และสามารถมีผลกำไรจากการทำเกษตรอินทรีย์ได้ดีตามไปด้วย
“ตอนนี้เกษตรกรหลายคนก็ได้เริ่มมีการปรับตัว และดำเนินการทำตามที่เราบอกไว้ โดยจากที่ได้สัมผัส เกษตรหลายท่านที่ได้มาตรฐาน GAP (ยังใช้สารเคมี) เพื่อปรับเปลี่ยนมาเป็นเกษตรกรอินทรีย์ (ไม่ใช้สารเคมี) ยังสับสนว่า เมื่อไรจึงจะหยุดใช้สารเคมีเกษตร เมื่อเกษตรกรต้องการทำเกษตรอินทรีย์ เราจะให้หยุดใช้สารเคมีทางการเกษตรทันที เรียกว่า เกษตรไม่ใช้เคมี (NAP, non agrochemical production) ในระยะปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ ตรวจผลผลิตแล้วไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษตกค้าง ปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มีแต่พืชเพียงอย่างเดียว ยังมีสัตว์ออร์แกนิก กุ้งอินทรีย์ ปลากะพงออร์แกนิก รวมไปถึงอาหารแปรรูปต่างๆ ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงมีการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ขึ้น เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์นั้น ได้ใช้หลักทางวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ได้อย่างมีระบบมากขึ้น” รศ.ดร.เกษม กล่าว
โดยมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (คุณสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์) และสมาคมเทคโนโลยีการเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง รศ.ดร.เกษม เป็นนายกสมาคม ได้กำหนดกฎเกณฑ์การรับรองเกษตรอินทรีย์ ตามนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development goals : SDGs) โดยมีภารกิจในการส่งเสริมและการยอมรับ แนวทางปฏิบัติในการทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร เพื่อผู้บริโภคอาหารปลอดภัย สุขภาพดี และรักษาสิ่งแวดล้อม มีกฎเกณฑ์การรับรองเกษตรอินทรีย์ Earthsafe powered by AATSEA ในแนวทางดังนี้
“การเกษตรไม่ใช้เคมี (Non-agrochemical production : NAP) หมายถึง การเกษตรที่ไม่ใช้เคมี ในระยะการปรับเปลี่ยนไปสู่การรับรองเกษตรอินทรีย์ของมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ และสมาคมเทคโนโลยีการเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกว่าจะตรวจไม่พบสารพิษตกค้างในผลผลิต”
โดยเกษตรกรต้องหยุดใช้สารเคมีทางการเกษตรทันที หยุดใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืช (สารเคมีกำจัดแมลง สารเคมีกำจัดโรคพืช สารเคมีกำจัดวัชพืช) ในการผลิตพืชและสัตว์ โดยมุ่งสู่การฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาทางการเกษตร สภาพแวดล้อม การปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพของดิน เพิ่มอุดมสมบูรณ์ของดินโดยให้มีอินทรียวัตถุมากขึ้น สภาพความเป็นกรดด่าง (pH) เหมาะสมต่อการเจริญของพืช
การเกษตรไม่ใช้เคมี (non agrochemical production, NAP) เริ่มจากการหยุดใช้สารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร โดยมีการนำนวัตกรรมจากการวิจัยทางเกษตรอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพประยุกต์ จุลินทรีย์และชีวภัณฑ์รวมถึงเทคนิคการทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี เข้าไปแนะนำเกษตรกรในการผลิต จากผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์ จากนั้นจะมีการตรวจสอบสารพิษตกค้างและกำจัดสารพิษตกค้างในน้ำ ในดิน และในผลผลิตเกษตร ด้วยการวิเคราะห์สารพิษตกค้างจากห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ แนะนำให้เกษตรกรใช้วิธีการการจัดการการปลูกพืชแบบผสมผสานที่ไม่มีการใช้สารเคมีในการผลิต ปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความหลากหลายทางชีวภาพของดิน การฟื้นฟูดินให้มีกิจกรรมทางชีวภาพ และการกำจัดสารพิษตกค้าง (โลหะหนัก) ในดิน ด้วยกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ รวมถึงการใช้ปัจจัยการผลิตด้านชีวภัณฑ์ที่มีผลการวิจัยที่ประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์
การใช้สารธรรมชาติ (Natural products) เช่น สมุนไพร และแร่ธาตุในธรรมชาติ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสมาคมเทคโนโลยีการเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นปัจจัยการผลิต เพื่อการผลิตให้ได้ปริมาณและคุณภาพตามต้องการในการได้อาหารที่ปลอดภัย
เกษตรอินทรีย์ (Organic agriculture) หมายถึง ระบบการผลิตตามวิธีการทางธรรมชาติในการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยหยุดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร (ปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืช ฮอร์โมนสังเคราะห์ สารเคมีสังเคราะห์ใช้ในการเลี้ยงสัตว์) ห้ามไม่ให้ใช้สิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรม (Non genetically modified organisms: non-GMO ) โดยใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้มาจากธรรมชาติ เช่น สารธรรมชาติ (Natural products) พืชสมุนไพร จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ชีวภัณฑ์ (Biological products) รวมถึงการใช้ชีวภัณฑ์ที่มีผลการวิจัยที่ประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ การใช้สารธรรมชาติ (Natural products) เช่น สมุนไพร และแร่ธาตุในธรรมชาติ
โดยปัจจัยการผลิตดังกล่าวที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ และสมาคมเทคโนโลยีการเกษตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ระบบนิเวศวิทยาทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการมาตรฐานแล้วไม่พบสารพิษตกค้างในผลผลิตก่อนถึงผู้บริโภค ก็จะได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์วิถีไทย Earthsafe powerted by AATSEA
การทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตร เพิ่มความหลากหลายทางชีววิทยา วัฏจักรของสิ่งมีชีวิต ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ (Organic agriculture products) จะต้องไม่มีสารพิษตกค้าง โดยผ่านการวิเคราะห์ สารพิษตกค้าง จากห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ ภายใต้หลักเกณฑ์ในการทำเกษตรอินทรีย์ทั่วไปและมีการตลาดรองรับ
สำหรับท่านใดที่สนใจหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 081-870-7582