เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ส่วนใหญ่จะนิยมปลูก ข้าวซีบูกันตัง 5 ลักษณะเด่น เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง สามารปลูกได้ ตลอดทั้งปี และให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 616 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นพันธุ์บริสุทธิ์ ไม่มีการปะปนพันธุ์ ความสูงต่ำของลำต้นสม่ำเสมอ สุกแก่พร้อมกัน เมื่อนำมาหุงสุก มีความร่วนแข็งมากกว่าพันธุ์ซีบูกันตังท้องถิ่น เกษตรกรจึงชอบมากกว่าทั้งลักษณะทางการเกษตร ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวหุงสุก อมิโลสสูง (27.2 เปอร์เซ็นต์) ข้าวสุกร่วนแข็งเล็กน้อย อุณหภูมิแป้งสุกปานกลาง ค่าความคงตัวแป้งสุกปานกลาง ตรงกับความนิยมการบริโภคของคนไทยมุสลิม ที่ชอบใช้มือเปิบข้าวแทนการใช้ช้อน , ข้าวมะจานู 69 ลักษณะเด่น ข้าวสุกไม่เหนียว-ไม่ร่วน ตรงกับรสนิยมการบริโภคของชาวไทยมุสลิม ที่ชอบใช้มือเปิบข้าวแทนการใช้ช้อน ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 497 กิโลกรัมต่อไร่ ลำต้นค่อนข้างแข็ง รวงยาว และคุณภาพการสีดีมาก , พันธุ์เล็บนกปัตตานี ลักษณะเด่น คุณภาพการสี และหุงต้มดี แปรรูปเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว คุณภาพดี มีความนุ่มเหนียว , พันธุ์ช่อลุง 97 ลักษณะเด่น มีคอรวงยาวเหมาะสำหรับการเก็บเกี่ยวด้วยแกระซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังนิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน คุณภาพเมล็ดดี คุณภาพการสีดี คุณภาพการหุงต้มข้าวสุกร่วน ค่อนข้างนุ่ม ตรงกับรสนิยม ในการบริโภคข้าวของประชากรในพื้นที่ ทางศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี ได้มีการมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิตเป็นอย่างมาก เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้มีข้าวที่มีคุณภาพ และมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น
นายอวยชัย บุญญานุพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานีได้มีการดำเนินโครงการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งมุ่งเน้นในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การยกระดับคุณภาพข้าวให้เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงการส่งเสริมในการปรับตัวด้านการผลิตข้าวโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทางศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี มีภารกิจดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ให้มีการปลูกข้าวอย่างเหมาะกับกับพื้นที่ของเกษตรกรเอง
นายธานนท์ ดำประเสริฐ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินงานสำหรับงานผลิตเมล็ดภัณฑ์ข้าวคคุณภาพ ซึ่งมีการเปรียบเทียบระหว่างการใช้แรงงานคนกับการใช้รถปักดำ แบบนั่งขับ ซึ่งการใช้แรงงานคน 1 คน สามารถปักดำข้าวได้ประมาณ 1 ไร่ต่อวัน ส่วนการใช้รถปักดำ 1 คันกับคนขับ 1 คน สามารถปักดำได้ประมาณ 10 ไร่ต่อวัน ใช้น้ำมันประมาณไม่เกิน 20 ลิตรต่อ 10 ไร่ นอกจากนี้ในการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตแล้ว ทางศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี ได้มีเทคนิคในการขั้นตอนสำคัญสำหรับการเก็บเมล็ดพันธุ์หลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งมีขั้นตอนการตากแดดลดความชื้น เพื่อให้ข้าวมีความชื้นไม่เกิน 14% ถ้าข้าวมีความชื้นที่มากกว่า 14% จะทำให้คุณภาพการงอกไม่ดี หลังจากลดความชื้นแล้วก็จะนำไปเข้าเครื่องทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ คัดเลือกเฉพาะเมล็ดพันธุ์ดี ให้เป็นเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ เพื่อส่งต่อเกษตรกรต่อไป
สำหรับการลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ปฏิบัติจริงได้สิ่งสำคัญคือการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีและมีมาตรฐานเกษตรกรในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ทางศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี ตั้งอยู่ที่ตำบลมะกรูด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เว็บไซต์ https://ptn-rrc.ricethailand.go.th/main.php Facebook ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี หรือ โทร 073-415989