คุยกับ “อัคระ ธิติถาวร” ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน กับวิชาเกษตรผสมผสานกับปศุสัตว์เลี้ยงแพะ ที่เริ่มต้นแนวคิดจาก “อาหารปลอดภัย” ใช้ทุกอย่างจากธรรมชาติ ชี้ เลี้ยงแพะ 20 ตัว ก็สร้างรายได้เดือนละครึ่งแสน
การทำเกษตร ขอให้เป็นประเภทที่คุณรัก ถนัด และใฝ่เรียนรู้ เพราะมันจะสร้าง “องค์ความรู้” ให้กับคุณ สิ่งสำคัญอีกเรื่อง คือ คุณต้องหา “จุดขาย” สินค้าของคุณ
ข้างต้นคือ “หัวใจ” สำคัญในการสนทนา ระหว่าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับ “อัคระ ธิติถาวร” ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ปี 2559 อยู่ในพื้นที่ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
เป็นลูกจ้าง 14 ปี ไร้เงินเก็บ จุดเปลี่ยนชีวิต หวิดเสียชีวิต
นายอัคระ เล่าว่า ชีวิตเขาก็เหมือนกับคนอื่นๆ เรียนจบก็ไปทำงานบริษัทเอกชน ตามแขนงที่ตัวเองได้ร่ำเรียน (ปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต เอกพืชศาสตร์) แต่พอทำงานแบบนั้นได้สักระยะหนึ่ง ประมาณ 13-14 ปี ก็มาถึงที่คิดว่าเราควรพอ เพราะว่าเรามาเจอวิกฤติใหญ่ในชีวิต ทำให้เราเกือบตาย…
“ช่วงที่ทำงานบริษัทไม่คิดอะไร คิดอย่างเดียวว่า ขอแค่หาเงินได้มากที่สุด เราก็มีความสุขแล้ว เงินที่มีก็ใช้ไปกับการกินเที่ยว ซื้ออะไรที่คิดว่ามีความสุข ตามความปรารถนา กระทั่งวันหนึ่งเรามาค้นพบว่า “สุขภาพ” ของเราเริ่มเสียจากการกินเที่ยว และอาหารที่ไม่ปลอดภัย สุดท้ายเกิดป่วยหนักถึงขั้น “โคม่า” หลายวัน เวลาที่นอนอยู่ตรงนั้น พยายามหา “สัจธรรม” ชีวิต เพราะแยกแยะระหว่าง “ความสุข” กับ “ความสงบ” ออกจากกันไม่ได้ แต่พอเริ่มเจ็บ ทำให้เราคิดได้ว่า “ความสุข” ที่รับเป็นเพียงความสนุกและความทุกข์ จึงตัดสินใจลาออก กลับมาที่บ้าน จ.ภูเก็ต”
นายอัคระ เล่าว่า ตอนที่กลับมาที่บ้าน จ.ภูเก็ต ประมาณปี 2535 เราไม่มีอะไรเหลือเลย เงินทุนอะไรก็ไม่มี ที่สำคัญ จ.ภูเก็ต จากที่เคยมีวิถีเกษตรกรรม กลายเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ครอบครัวเคยทำเกษตรก็หยุด หันไปมองคนรอบข้าง บางคนขายที่ดินให้กับนายทุนไปแล้ว สิ่งที่มีคือ “แฟน” และที่ดินมรดกอีกนิดหน่อยไม่ถึง 10 ไร่
ตั้งต้นชีวิตเกษตร ด้วยอาหารปลอดสารพิษ เพราะทุกชีวิตล้วนต้องการ
พี่อัคระ ตระหนักว่า สิ่งที่อยากจะทำคือการทำ “อาหารปลอดภัย” เพราะช่วงที่ผ่านมา เรากินอาหารที่ปนเปื้อนด้วยสารพิษ ทั้งที่เราเห็นและไม่เห็น เมื่อมีโอกาสกลับบ้าน เห็นที่นาว่างเปล่า จึงเริ่มต้นด้วยการ “ปลูกผักกางมุ้ง” หรือ ผักปลอดสารพิษ โดยเฉพาะผักประเภทใบต่างๆ แต่…การจะปลูกผักปลอดสารพิษได้ สิ่งสำคัญคือ “ปุ๋ย”
เราจะหาปุ๋ยอย่างไร…?
นี่คือโจทย์ที่เกิดขึ้นจากการปลูกผักปลอดสารพิษ ทางออกของคำถามนี้ก็คือต้องเลี้ยงสัตว์
แล้วจะเลี้ยงสัตว์อะไรล่ะ…?
นี่คือคำถามต่อมา..
วัว ควาย ไหม… “มันน่าจะใช้ยาก” ถามตัวเอง ก็ตอบด้วยตัวเอง และมันคงไม่เหมาะกับเรา
หันมองซ้าย-ขวา ในชุมชนแถวบ้านเราก็มีการเลี้ยงแพะกัน และมูลแพะก็น่าจะใช้ทำปุ๋ยได้ง่าย จึงเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงแพะ 10 ตัว (ต้นทุนเวลานั้น แพะตัวละ 2,000-3,000 บาท)
“ตอนเลี้ยงแพะแรกๆ ก็หวังที่มูลแพะ เพื่อมาแปรรูปทำปุ๋ย แต่เลี้ยงไปมา แพะมันเริ่มมีลูก พอมันเริ่มโต ชาวบ้านก็มาถาม ขอซื้อ เพราะชุมชนมุสลิมเขาก็บริโภคอยู่แล้ว ประจวบกับว่าผักที่ปลูกแบบกางมุ้งนั้น ปลูกเป็นที่นาเก่า พอเข้าหน้าฝนก็ทำให้ผักเริ่มเน่าเสีย ผักตระกูลผักกาดก็มีปัญหา ซึ่งตอนนั้นเราขายผักปลอดสารพิษ ราคาเท่ากับที่เขาขายในท้องตลาด ซึ่งก็มีหลายคนทักว่าบ้าหรือเปล่า แต่เราก็อยู่ได้ แม้คนอื่นจะมองเราว่ามีความคิดแปลก แม้รายได้ไม่ค่อยดี แต่ทำแล้วสบายใจ”
จากเลี้ยงแพะเพื่อใช้ปุ๋ย กลายเป็น “รายได้หลัก”
ปราชญ์เกษตร จาก ภูเก็ต เล่าว่า จากที่เราเลี้ยงแพะเพื่อนำปุ๋ยมาใช้ แต่กลายเป็นว่า “แพะ” กลับสร้างรายได้หลัก เพราะปลูกพืชเราเจอปัญหาช่วงหน้าฝน แต่กับการเลี้ยงแพะไม่ใช่ ดังนั้น จึงเริ่มที่จะคิดจริงจังกับการเป็นเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ นั่นก็คือ “แพะ”
“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราคิดได้ว่า เราควรทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยใช้การเลี้ยงสัตว์เป็นตัวนำ โดยมีการคิดและพัฒนาพันธุ์แพะ”
นายอัคระ อธิบายว่า แพะที่เลี้ยงในช่วงแรก เป็นแพะพันธุ์พื้นเมืองที่มีความทนสภาพอากาศ ฝน 8 แดด 4 ได้ดี แต่ปัญหาคือ ได้ผลผลิตต่ำ ทั้งเนื้อ (ตัวเล็ก) และนม แต่เมื่อเห็นว่ามีรายได้ จึงเริ่มต้นพัฒนาสายพันธุ์ ด้วยการหาซื้อแพะพันธุ์ดี โดยสั่งจองมาจากกรมปศุสัตว์ โดยการสร้างลูกผสมขึ้นมา ปรากฏว่าลูกแพะที่ได้พ่อพันธุ์ที่ดีก็เริ่มโตเร็ว ตัวใหญ่ขึ้น
โดยตอนแรกใช้พันธุ์ แองโกลนูเบียน กับ พันธุ์บอร์ โดยเอามาพัฒนากับแพะพื้นเมือง การเป็นแพะเนื้อ โดยเลี้ยงแบบธรรมชาติเหมือนเดิม ซึ่งทำให้อัตราการเจริญเติบโตดี เมื่อก่อนต้องเลี้ยง 1 ปี ถึงจะขายได้ แต่เวลานี้ย่นเวลาเหลือ 5-6 เดือน ก็ขายได้
“ผมกล้าพูดว่า ผมเป็นคนแรกๆ ที่ทำให้อาชีพเลี้ยงแพะกลับมากันอย่างกว้างขวางอีกครั้งในภูเก็ต”
“แพะ” สร้างมูลค่า ทดลองได้องค์ความรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์
จากการจุดประกายของเรา ทำให้ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญของการเลี้ยงแพะ และเราก็ไม่ได้หยุดที่แค่นี้ เราเริ่มค้นคว้า ต่อยอด สร้างผลผลิตออกมา โดยนอกเหนือจากเนื้อแพะ นมแพะ ที่ขายได้แล้ว เรายังทำชีส มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ปราชญ์เกษตร จ.ภูเก็ต บอกว่า จากข้อมูลที่เราไปอ่านเจอ พบว่า “นมแพะ” มีความใกล้เคียงกับนมมนุษย์มากที่สุด และยังเป็นนมสัตว์ชนิดแรกๆ ที่นำมาให้มนุษย์กิน บางคนแพ้นมวัว กินไม่ได้ ก็เลือกที่จะรับประทานนมแพะ จากนั้นเราจึงต่อยอดด้วยการหาแพะนมมาเลี้ยง
รักษาอาการป่วยแพะ ด้วยสมุนไพร จากการถอดองค์ความรู้
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน กล่าวว่า ช่วงที่เลี้ยงแพะ เราจะเจอปัญหาต่อมา คือ แพะที่เลี้ยงมีอาการป่วย ซึ่งตอนแรกเราใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ด้วยใจที่ไม่ชอบยาปฏิชีวนะอยู่แล้ว จึงได้ศึกษาเรื่องสมุนไพรต่างๆ ถอดองค์ความรู้ในการรักษาโรคของแพะ ซึ่งก็ค้นคว้ามาเรื่อยๆ จนได้คำตอบในการรักษา และได้เขียนออกมาเป็น “ตำรา” การรักษาแพะ
เช่น แพะ มีอาการป่วยด้วยโรคพยาธิ เราก็ใช้ตัวหลัก คือ สะเดา ขี้เหล็กเทศ ขี้เหล็ก ใบขี้ขม (พืชในพื้นที่) จากนั้นก็นำมาหมักกับสาร พด.7 โดยหมักประมาณ 3 สัปดาห์ จากนั้นนำมาผสมน้ำให้สัตว์กิน ซึ่งเมื่อกินไปแล้ว มันจะควบคุมพยาธิ ลดปริมาณไข่พยาธิ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ พยาธิมันก็ค่อยๆ หมดไป ซึ่งถึงวันนี้เราไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดพยาธิในตัวสัตว์เกิน 20 ปีแล้ว
“เมื่อเรามีองค์ความรู้ต่างๆ แล้ว เราก็ถ่ายทอดให้กับผู้สนใจ เราเห็นว่า เกษตรกรคนอื่นนำไปใช้ประโยชน์ได้ ก็จะเป็นสิ่งดี สิ่งที่ได้กลับมา คือ หากทุกคนผลิตอาหารปลอดภัยได้ ร่างกายเราที่ได้รับก็จะปลอดภัยด้วย”
เกษตรกร ไม่จำเป็นต้องจน ทุกวันนี้อยู่ดีกินดี ตัวอย่างแพะ 20 ตัว สร้างเงินได้ครึ่งแสน
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน กล่าวว่า ทุกวันนี้เรามีผลิตภัณฑ์หลากหลาย โดยรายได้หลักมาจาก นมแพะพาสเจอไรซ์พร้อมดื่ม หากช่วงไหนมีนมเยอะ เราก็นำไปแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ
“การเกษตรในแบบผม เรายึดหลักผสมผสาน แต่เรามีการเลี้ยงแพะนำ ซึ่งการทำอาชีพผมบอกได้เลยว่า “รวยได้” การที่บอกว่า การทำเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้แปลว่าจน ก่อนอื่นต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน แต่เราต้องโตแบบมีฐานมั่นคง ส่วนรายได้ของผม เรียกว่าเลี้ยงครอบครัวได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ หากคุณเลี้ยงแพะสัก 20 ตัว คุณก็อยู่ได้แล้ว เพราะน่าจะมีรายได้ประมาณ 40,000-50,000 บาท อีกทั้งเมื่อปลูกเกษตรแบบผสมผสาน คุณก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้”
คำแนะนำ คนจะทำอาชีพเกษตร “เลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยว”
ทีมข่าวเฉพาะกิจ ถามปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ว่า หากคนสนใจจะทำอาชีพเกษตร ควรทำอย่างไร นายอัคระ ให้คำแนะนำว่า ที่ผ่านมาในอดีต คนทำเกษตรจะทำเกษตรเชิงเดี่ยว แต่กับโลกปัจจุบันบอกได้เลยว่า “เลิกคิด” เพราะเราต้องทำมากกว่า 2 อย่างขึ้นไป เพราะการทำอย่างเดียวมันสุ่มเสี่ยงมาก เพราะ
1. มีโอกาสเกิดโรคแมลง
2. ต้นทุนการผลิตสูง ไม่มีอะไรเกื้อกูล
3. ราคาผลผลิตผันผวน
4. ภัยธรรมชาติ
หากคุณทำมากกว่า 2 อย่าง ก็เป็นการลดความเสี่ยง เช่น ชาวนาเลี้ยงแพะด้วย ก็ได้มูลแพะเป็นปุ๋ย อย่างน้อยก็ลดค่าใช้จ่ายได้ เพราะแค่ลดต้นทุนอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เรามีกำไรเพิ่มขึ้นทันที เพราะแค่ราคาปุ๋ย 1-2 กระสอบ ก็ลดรายจ่ายเป็นพันแล้ว และการทำเกษตรขอว่า อย่าทำตามกระแส เพราะเห็นตัวอย่างหลายคนแล้วไปไม่รอด การทำตามกระแส คุณจะอยู่ปลายแถวคนอื่น พอตลาดวาย คุณจะตามคนอื่นไม่ทัน
“การทำเกษตร ขอให้เป็นประเภทที่คุณรัก ถนัด และใฝ่เรียนรู้ เพราะมันจะสร้าง “องค์ความรู้” ให้กับคุณ สิ่งสำคัญอีกเรื่อง คือ คุณต้องหา “จุดขาย” สินค้าของคุณต้องดี มีอัตลักษณ์ หาให้ได้ เช่น นมแพะ ของผมมีข้อดีอย่างไรบ้าง เราเลี้ยงอย่างไร ให้ได้นมคุณภาพดี เช่น เราเลี้ยงแบบธรรมชาติ 100% ไม่มีอะไรที่เป็นสารเคมี ทุกอย่างที่เราบอกมันคือ “มูลค่า” ทำให้ลูกค้า “มั่นใจ” เรามากขึ้น การที่คุณผลิตอาหารออกมาขาย หากคุณยืนยันเรื่องความปลอดภัยได้ เชื่อว่าคุณก็ขายได้” ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน กล่าวทิ้งท้าย