กรมการข้าว ชวนชมงานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ขนทัพงานวิชาการทั่วไทยมาจัดแสดง พร้อมผลักดันผลิตภัณฑ์ใหม่จากข้าวสาลี เอาใจคอ “คราฟต์เบียร์”
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 66 ดร.สิปปวัชญ ปัญญาตุ้ย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว เปิดเผยว่า จากการวิจัยพืชเมืองหนาวเกี่ยวกับข้าวสาลี ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากข้าวสาลีขนมปังสายพันธุ์ดีเด่น SMGBWS8808 เป็นพันธุ์ข้าวสาลีที่เหมาะสมในการทำขนมปังให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี จึงได้ดำเนินการศึกษาพันธุ์ข้าวสาลีขั้นต้น เปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ระหว่างสถานี และทดสอบพันธุ์ข้าวสาลีขนมปังในนาราษฎร์ ตั้งแต่ฤดูปลูกปี 2560-2563 พบว่า จากการศึกษาพันธุ์ข้าวสาลีขนมปัง จำนวน 20 สายพันธุ์ มีข้าวสาลีจำนวน 8 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง (FNBW8301-5-5, FNBW8310-1-SMG-1-1-1, LARTC-W89011, MHSBWS12010, MHSBWS12046, PMPBWS89013, PMPBWS89248 และ SMGBWS88008) ทั้งยังพบว่าสายพันธุ์ LARTC-W89011 มีค่าเฉลี่ยของผลผลิตสูงสุด และ SMGBWS88008 สามารถใช้แปรรูปเป็นแป้งขนมปังได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่น
กรมการข้าวจึงมีแนวโน้มผลักดันขยายผลการปลูกข้าวสาลี ในพื้นที่ที่เหมาะสมในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากพันธุ์ข้าวสาลีนำมาจากต่างประเทศ ซึ่งธรรมชาติของข้าวสาลีเป็นพืชฤดูหนาว จึงต้องปลูกปลายฤดูฝน หรือหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกข้าวสาลีจึงเป็นพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และจ.เชียงใหม่ สำหรับผู้ผลิตแป้งสาลีที่เน้นผลิตภัณฑ์วิธีธรรมชาติหรืออนุรักษนิยมใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และจะมีการขยายผลผลิตในการแปรรูปเป็น “คราฟต์เบียร์” เพื่อขยายช่องทางการตลาด และเพิ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกร ขณะนี้อยู่ระหว่างวิจัยพื้นที่การปลูกที่เหมาะสมกว่า 2,000 ไร่ และจะมีการขยายให้เพิ่มมากขึ้น แต่จำกัดด้วยอุณหภูมิ 5 องศา ไม่เกิน 30 องศาที่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าว สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ 093-312-1881
ในการจัดงานรณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2566 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยการจัดงานในส่วนกลางจัดขึ้นวันที่ 5-7 มิถุนายน 2566 ณ กรมการข้าว ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ภายใต้ชื่องาน “91 พรรษา สายธารแห่งน้ำพระทัย สร้างชาวนาวิถีใหม่ สู่ข้าวไทยยั่งยืน” ซึ่งในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทรรศการเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์, นิทรรศการเชิดชูเกียรติชาวนา, การจัดเวทีเสวนาข้าวและชาวนา, การจำหน่ายสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ โดยเป็นสินค้าประเภทข้าวสารและสินค้าแปรรูป เป็นต้น
และในส่วนของภูมิภาคอีก 2 แห่ง ซึ่งจัดใหญ่ไม่แพ้กัน คือ จ.พิษณุโลก จัดขึ้นที่ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ในวันที่ 16-17 มิถุนายน 2566 และ จ.นครราชสีมา จัดขึ้นที่ Korat Hall ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล นครราชสีมา จ.นครราชสีมา ในวันที่ 22-23 มิถุนายน 2566 โดยการจัดงานที่ จ.พิษณุโลก จะมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 91 พรรษา, นิทรรศการเชิดชูเกียรติชาวนา, การจัดแปลงสาธิตการปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์, ประกวดธิดาชาวนา, แข่งขันฝัดข้าวลีลาและหุงข้าวหม้อดิน พร้อมช็อป ชม ชิม ผลิตภัณฑ์จากข้าว ฯลฯ ส่วนการจัดงานที่ จ.นครราชสีมา จะมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ 91 พรรษา, ขบวนแห่อัญเชิญพระแม่โพสพ, การสาธิตจัดแสดงนวัตกรรมข้าว, นิทรรศการและการสาธิตการลดต้นทุนการผลิตข้าว, การประกวดหนุ่มข้าวเหนียว สาวข้าวหอม ปี 2566, การแข่งขันกินข้าว ช็อป ชม ชิม ผลิตภัณฑ์ข้าวจากกลุ่มชาวนาทุกภาค มากกว่า 50 บูธ.