ค้นหา

กรมส่งเสริมการเกษตรรุกเพิ่มปริมาณการผลิตพืชตระกูลถั่วลดนำเข้าจากต่างประเทศ

กรมส่งเสริมการเกษตร 
เข้าชม 373 ครั้ง

กรมส่งเสริมการเกษตร ผลักดันให้ 130 ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชนทั่วประเทศ ขยายผลองค์ความรู้กระบวนการผลิตพืชตระกูลถั่วสู่เกษตรกรเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต หลังปริมาณการปลูกลดลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป หวังลดการนำเข้าจากต่างประเทศที่สูญเงินหลายหมื่นล้านบาทต่อปี 

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงนโยบายการเพิ่มปริมาณการผลิตพืชตระกูลถั่วภายในประเทศว่า ปัจจุบันพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง มีปริมาณการปลูกภายในประเทศลดลง ทำให้ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ และวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปต่าง ๆ และต้องนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก สูญเสียเงินออกนอกประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตร จึงมีแนวคิดเพิ่มกำลังการผลิตพืชตระกูลถั่ว เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ แก้ปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยใช้ศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชน จำนวน 130 ศูนย์ ทั่วประเทศ ในการขับเคลื่อน 

สำหรับศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชนทั้ง 130 ศูนย์ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้การสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตะกูลถั่วชุมชน เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ที่ดีสู่ระบบการผลิต ซึ่งมีเกษตรกรบริหารจัดการดูแลด้วยกันเอง และมีเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรคอยเป็นพี่เลี้ยง ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 2,600 ราย แบ่งเป็น ถั่วเหลือง 35 ศูนย์ ถั่วเขียว 50 ศูนย์ และถั่วลิสง 45 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ 32 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ ชัยนาท ลพบุรี อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น  นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ และมหาสารคาม

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่และบุคลากรของศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ฯ เพื่อนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการกระบวนการผลิตพืชตระกูลถั่วขยายต่อสู่เกษตรกร เพื่อเพิ่มปริมาณการปลูกให้มากขึ้น ทั้งเรื่อง 1.เทคโนโลยีการผลิตและการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง 2.วิธีตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ 3.โรค และแมลงศัตรูในเมล็ดพันธุ์ 4.การตรวจพันธุ์ปนในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ 5.การคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม 6.การดูแลรักษาแปลงผลิต การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชอย่างถูกต้อง 7.การปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ การลดความชื้น คัดแยก บรรจุ ตั้งกอง และเก็บรักษา และ8.การเพาะและประเมินความงอกเมล็ดพันธุ์  เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ปริมาณการผลิตพืชตระกูลถั่วในประเทศลดลง เกิดจาก 1.ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำและราคาตกต่ำเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก และมันสำปะหลัง 2.เกษตรกรขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตร มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี กระจายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และเกษตรกร เพื่อนำไปผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชั้นพันธุ์จำหน่ายต่อไป 3.เมล็ดพันธุ์มีปริมาณน้ำมันในเมล็ดสูงทำให้ความงอกลดลงอย่างรวดเร็ว เกษตรกรไม่สามารถเก็บไว้ทำพันธุ์ข้ามฤดูกาลผลิตได้ 4.เกษตรกรบางรายซื้อเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้าในท้องถิ่น ได้เมล็ดพันธุ์ไม่มีคุณภาพ อัตราการงอกต่ำ ทำให้ต้องใช้เมล็ดพันธุ์จำนวนมาก ส่งผลให้ต้นทุนสูง จนทำให้เกษตรกรลดปริมาณการปลูกลง แต่คาดว่าเมื่อศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชนทั้ง 130 ศูนย์ ดำเนินการขับเคลื่อนตามแผนงานจะทำให้ปริมาณการผลิตพืชตระกูลถั่วเพิ่มขึ้นได้ 

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.agrinewsthai.com/industrial-drop/72872