ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กิตนะ ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในโอกาสเข้าร่วมประชุมหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ 7 (The Seventh International Conference on Vetiver : ICV-7 ) ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาว่า ที่จังหวัดสระบุรีทางศูนย์ฯ กิจกรรมโรงเรียนหญ้าแฝกมีการรวบรวมพันธุ์หญ้าแฝก ตลอดถึงการศึกษาต่อยอดการใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากการปลูกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ให้ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการเพาะปลูกพืชทั่วไป นอกจากนี้ก็ยังมีการนำส่วนต่างๆ ของหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ด้านหัตถกรรม เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ
“ใบหญ้าแฝกยังให้คุณสมบัติเป็นอินทรียวัตถุ รากมีราที่เป็นประโยชน์เรียกว่า “ไมคอร์ไรซา” มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างพืช ราชนิดนี้จะแทรกอยู่ในรากพืช เมื่อเจริญเติบโตจะทิ้งสปอร์ไว้ในดิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อดินและเป็นอาหารของพืช ได้นำมาพัฒนาต่อยอดด้วยการนำดินรอบกอหญ้าแฝกมาใช้เป็นดินเพาะปลูกและจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางด้วย โดยตั้งชื่อว่าเคียงดิน”
ด้าน นางกชวรรณ ทัพพันดี ครูอาสาสมัคร ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอภูซาง(สกร.) จ.พะเยา หรือเดิมคือการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) เผยว่า ทางสกร.อำเภอภูซางได้จัดทำเป็นหลักสูตรวิชาเลือกเสรีแก่นักเรียน สกร. หลักสูตรที่ 1 การปลูกแฝกและการแปรรูปในระดับประถมศึกษา มีการเรียนการสอนตั้งแต่การปลูกหญ้าแฝกจนถึงการแปรรูปจากชิ้นงานเล็กๆ อาทิ จานรองแก้ว เป็นเบื้องต้น ส่วนหลักสูตรที่ 2 การปลูกแฝกและการแปรรูปในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีการฝึกหัดให้จักสานเป็นตะกร้าเล็กๆ และหลักสูตรที่ 3 การปลูกแฝกและการแปรรูปในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยฝึกทำตะกร้าที่เป็นชิ้นงานที่ใหญ่ขึ้นและละเอียดมากขึ้น
ผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝกที่นำมาแสดงและจำหน่ายภายในงานการประชุมหญ้าแฝกฯ ครั้งนี้ เป็นของนักเรียนที่รวมกลุ่มเป็นกลุ่มอาชีพจักสานหญ้าแฝก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นการพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกมาดำเนินการด้วยการผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้เกษตรกรในพื้นที่จะมีความสามารถในงานด้านการจักสานมาก่อน เป็นการถ่ายทอดผ่านรุ่นสู่รุ่นมายาวนาน จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมีความโดดเด่นสวยงามตามแบบฉบับของท้องถิ่น พร้อมกันนี้มีส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนฝึกอบรมเพื่อพัฒนารูปแบบที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การริวฟั้นเชือกจากใบหญ้าแฝกให้สวยงามและง่ายต่อการนำมาจักสาน ไปจนถึงการนำสีที่ย้อมกกนำมาย้อมแฝกเพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์ ทำให้สีสด มีความสวยงาม สีไม่ตก ไม่ซีด ไม่เกิดเชื้อรา ใช้งานได้ยาวนาน ปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ 5 ดาวจังหวัดพะเยา
สำหรับการศึกษาพัฒนาเพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ของหญ้าแฝกอีกแขนงหนึ่งในด้านเภสัชเวทเพื่อสุขภาพ โดย นางสาวกมลชนก สกุลประเสริฐ รองผู้อำนวยการสถาบัน DRI มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งนำผลสำเร็จในการพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก โดยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมาจัดแสดงเปิดเผยว่า ทางมูลนิธิทันตนวัตกรรมได้พัฒนาน้ำยาบ้วนปากผสมสารสกัดจากรากหญ้าแฝกโดยดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง “เมื่อปี พ.ศ. 2546 มีการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหญ้าแฝกว่ามีสารสำคัญอะไรในหญ้าแฝกที่มีฤทธิ์เกี่ยวข้องกับงานด้านทันตกรรมบ้าง หลังจากมูลนิธิทันตนวัตกรรมได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.) เพื่อต่อยอดงานศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง และพบว่ารากหญ้าแฝกพันธุ์สุราษฎร์ธานี เมื่อนำมาสกัดจะได้สารสำคัญที่ใช้เป็นน้ำยาบ้วนปากเพื่อป้องกันและลดโรคในช่องปากได้ และได้ทำการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ประโยชน์ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์นี้ได้รับเครื่องหมาย อย. จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นที่เรียบร้อยแล้วอยู่ในหมวดของเครื่องสำอาง นอกจากนี้จะมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ Oral health care ในกลุ่มอื่นๆ เช่น ยาสีฟัน สเปรย์ เพื่อช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพในช่องปากต่อไป”