ค้นหา

เกษตรกรฯนครสวรรค์ต่อยอดพลังงานทดแทนแปรรูปสมุนไพรสร้างรายได้

นางชลาลัย ทับสิงห์
เข้าชม 320 ครั้ง

กลุ่มเกษตรกรฯนครสวรรค์ต่อยอดพลังงานทดแทน ปลูกข้าวและพืชผักปลอดภัย แปรรูปสมุนไพรสร้างรายได้

ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรอยู่ที่ไหน ล้วนแล้วแต่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน โดยเฉพาะอาชีพด้านการเกษตร เพราะเป็นหนึ่งในอาชีพสำคัญที่หล่อเลี้ยงประชากรโลก จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่กลุ่มเกษตรกรหัวก้าวหน้า แห่งตำบลปางสวรรค์ อำเภอชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์ มีการประยุกต์นำเทคโนโลยีมาลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า และที่สำคัญเทคโนโลยีที่ว่านั้นยังเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“นครสวรรค์” หรือที่คนนิยมเรียกกันว่า “ปากน้ำโพ” อันเกิดจากภูมิศาสตร์สำคัญ เป็นจุดที่แม่น้ำปิงกับแม่น้ำน่านไหลมาบรรจบก่อนจะกลายเป็น “แม่น้ำเจ้าพระยา” แม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงวิถีเกษตรของภาคกลาง

เกษตรกรชาวนครสวรรค์อยู่ร่วมกับสายน้ำและผืนแผ่นดินอุดมสมบูรณ์มาช้านาน  สั่งสมประสบการณ์จนเกิดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดรับเทคโนโลยี และวิธีการจัดการใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับยุคสมัย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อชุมชน

ตัวอย่างสำคัญเกิดขึ้นที่ ตำบลปางสวรรค์ อำเภอชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์ มีการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อจัดตั้งเป็น “กลุ่มเกษตรกรโครงการปลูกข้าวและพืชผักปลอดภัยและพลังงานทดแทนพร้อมทั้งแปรรูปสมุนไพรพร้อมทั้งจำหน่าย” สมาชิกในกลุ่มฯ แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน ทำให้ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของสมาชิก รวมถึงยินดีเปิดบ้านแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ผู้สนใจอีกด้วย

นางชลาลัย ทับสิงห์ ประธานกลุ่มฯ บอกเล่าอย่างภูมิใจว่า ขั้นตอนต่างๆ สมาชิกพร้อมใจกันลงมือทำเอง เมล็ดพันธุ์เก็บเอง ปุ๋ยสามารถทำกันเอง ส่วนด้านการตลาดเมื่อมีการรวมกลุ่มกันแล้ว จะมีเหล่าคนรักสุขภาพติดต่อเข้ามาเองเพราะมั่นใจในขั้นตอนการผลิตที่ปลอดภัยมีคุณภาพ

“แต่เดิมเราจะมีปัญหาในเรื่องของพลังงาน เพราะก่อนหน้านี้เราใช้เป็นปั๊มไฟฟ้า แต่ว่าถ้าระยะทางไกลเกินไป เราก็จะต้องใช้เป็นเครื่องดีเซล แล้วก็เครื่องเบนซิน เราอยากจะลดในเรื่องของน้ำมัน ไม่ใช่ว่าแค่เงินอย่างเดียว แต่ว่าเราเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ สารตะกั่วที่ลอยไป สารตกค้างที่ลอยลงไป เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่จากการถ่ายทอดความรู้ ให้คำแนะนำ และการสนับสนุนจากสำนักงานพลังงานจังหวัดนครสวรรค์ กระทรวงพลังงานทำให้ทุกวันนี้ ทางกลุ่มฯ สามารถลดต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องสูบน้ำออกไปได้ ด้วยระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ แบบเคลื่อนที่ อีกทั้งค่าพลังงานในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ก็ลดลง ด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์” นางชลาลัยบอกเล่าด้วยความภูมิใจ

นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีการต่อยอดองค์ความรู้ด้านพลังงาน จนสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร ตัวอย่างเช่นการแปรรูปมันสำปะหลังซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่มีอยู่มากในพื้นที่ ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้อีกด้วย

ขณะที่ นายณัฐกิตต์ รัฐศิลป์โภคิน พลังงานจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวเสริมว่า “กลุ่มเกษตรกรโครงการปลูกข้าวและพืชผักปลอดภัยและพลังงานทดแทนพร้อมทั้งแปรรูปสมุนไพรพร้อมทั้งจำหน่าย” เป็นตัวอย่างสำคัญของการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้า โดยการใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 320 วัตต์ 1 ระบบ เมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าหรือการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง สามารถประหยัดได้ถึง 220-280 บาท/เดือน หรือประมาณ 2,600-3,400 บาท/ปี

“เมื่อได้ลงมือทำและพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่ตามมาก็คือชาวบ้านจะตระหนักต่อความสำคัญของการใช้พลังงานในมิติต่าง รวมทั้งยังสามารถขยายผลและใช้เพื่อการเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยที่นี่ยังมี “โครงการต้นแบบการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอล) จากมันสำปะหลัง” ที่มีศักยภาพอีกด้วย” พลังงานจังหวัดนครสวรรค์กล่าวย้ำ

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาให้ล้ำหน้าอย่างต่อเนื่อง สามารถนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องและพัฒนาได้ทุกสาขาอาชีพ และเมื่อประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม ก็จะนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และที่สำคัญคือลดการใช้พลังงานและบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.banmuang.co.th/news/gallery/334166