ผู้เขียน นวลศรี โชตินันทน์
น้อยหน่า เป็นผลไม้ที่มีรสหอมหวานน่ารับประทาน เสียอย่างเดียวมีเมล็ดมาก โดยเฉพาะน้อยหน่าพันธุ์พื้นบ้าน (มีทั้งน้อยหน่าหนังและน้อยหน่าเนื้อ) ให้รสหวานจัด แต่ผลเล็กมีเมล็ดมากกว่าเนื้อทำให้ผู้บริโภคไม่ชอบรับประทาน จึงหันไปรับประทานน้อยหน่าเพชรปากช่อง ผลใหญ่มีเนื้อมากกว่าและเมล็ดเล็ก เกษตรกรจึงพากันไปปลูกน้อยหน่าเพชรปากช่อง เพราะตลาดต้องการมากกว่า ทำให้น้อยหน่าพันธุ์พื้นบ้านถูกปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ ปราศจากการเอาใจใส่ดูแลแห้งคาต้นและปล่อยให้ร่วงหล่นลงมา และมีจำนวนไม่น้อย ทำให้นักวิจัยเกิดความคิดที่จะนำน้อยหน่าทั้งเมล็ดและใบมาทำประโยชน์ โดยนำมาสกัดเป็นสารกำจัดศัตรูพืช
มีรายงานการผลิตน้อยหน่าปี 2564 พื้นที่ปลูกน้อยหน่าทั่วประเทศมี 31,656 ไร่ จังหวัดที่ปลูกน้อยหน่ามากที่สุดคือ จังหวัดนครราชสีมา สกลนคร กาญจนบุรี จันทบุรี และขอนแก่น มีผลผลิต 50,237 ตัน
มีรายงานวิจัยน้อยหน่ามีฤทธิ์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช
น้อยหน่าปลูกทั่วไปในประเทศไทยเพื่อรับประทานผล และผลแห้งยังนำมาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับรักษาโรคได้หลายอย่าง ได้แก่ โรคท้องเสีย โรคบิด โรคลำไส้ โรคท้องผูก และโรคหิด เป็นต้น ด้านการเกษตรมีรายงานวิจัยว่ามีฤทธิ์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ สารสกัดเมล็ดน้อยหน่าด้วยเอทานอลมีฤทธิ์กำจัดด้วงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น สารสกัดใบและเมล็ดน้อยหน่ายังสามารถควบคุมแมลงได้อีกหลายชนิด เช่น เพลี้ย หนอนฝ้าย ตั๊กแตน มด แมลงหวี่ และได้มีการทดสอบสารสกัดเมล็ดน้อยหน่าด้วยตัวทำละลายต่างๆ กับตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของมอดแป้ง โดยใช้สารสกัดเมล็ดน้อยหน่าด้วยเมทานอลและปิโตรเลียมสปิริต
นอกจากนั้น มีรายงานการวิจัยสารสกัดหยาบของน้อยหน่ายังสามารถควบคุมตัวอ่อนผีเสื้อ ควบคุมแมลงวันผลไม้ชนิด Mediterranean fruit fly ในระยะฟักไข่ โดยรบกวนการวางไข่และยืดเวลาพัฒนาการของตัวอ่อน ควบคุมตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของด้วยแป้งสีแดง Triblium caslaneum Herbst ได้
ศึกษาวิจัยประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนใยผัก
คุณธิติยาภรณ์ อุดมศิลป์ และคณะกลุ่มงานวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตรจากสารธรรมชาติ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการวิจัยประสิทธิภาพของสารสกัดจากน้อยหน่าในการควบคุมหนอนใยผัก โดยศึกษาในห้องปฏิบัติการโดยการสกัดด้วยตัวทำละลายต่างๆ พบว่า สารสกัดหยาบเมล็ดน้อยหน่าให้ผลในการฆ่าหนอนใยผักได้ดีกว่าสารสกัดหยาบจากใบน้อยหน่า และสารสกัดหยาบเมล็ดน้อยหน่าที่สกัดด้วยเมทานอล ให้ผลในการฆ่าหนอนใยผักดีที่สุด
สารสกัดหยาบเมล็ดน้อยหน่าที่ความเข้มข้น 5, 10, 15, 20 และ 25% (น้ำหนักต่อปริมาตร) พบว่า ทุกความเข้มข้นให้ผลในการฆ่าหนอนใยผักไม่แตกต่างกันทางสถิติ จากผลการทดสอบสารพฤกษเคมีของสารสกัดหยาบเมล็ดน้อยหน่าด้วยตัวทำละลายเมทานอล พบสารกลุ่มเทอร์ฟีนอล ฟลาโวนอยด์ และอัลคาลอยด์เป็นองค์ประกอบสารสกัดหยาบเมล็ดน้อยหน่าเป็นสารสกัดที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืชต่อไป
พัฒนาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าจนได้สูตร EC
คุณธิติยาภรณ์ และคณะวิจัย ได้เตรียมสารสกัดหยาบน้อยหน่า โดยนำผลน้อยหน่าสุกมาแกะเมล็ดล้างทำความสะอาด แล้วนำมาอบแห้งและบดให้ละเอียด จากนั้นนำมาสกัดเมล็ดน้อยหน่าด้วยเมทานอล ซึ่งเป็นตัวทำละลายที่มีประสิทธิภาพในการสกัดสารสำคัญจากเมล็ดน้อยหน่าระเหยด้วยเครื่อง Rotary evaporator
จากนั้นได้นำมาวิเคราะห์หาปริมาณสำคัญในสารสกัดเมล็ดน้อยหน่า โดยใช้ดีเทคเตอร์ชนิด DAD ที่ความยาวคลื่น 210 นาโนเมตร โดยเตรียมสารสกัดหยาบที่มีความเข้มข้นที่เหมาะสม วิเคราะห์และคำนวณหาปริมาณสารสำคัญเทียบกับกราฟมาตรฐาน
ทำการศึกษาการเตรียมผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าในรูปแบบอิมัลชั่น โดยทดลองผสมกับตัวทำละลายและสารลดแรงตึงผิว ผสมกันที่อัตราส่วนต่างๆ แล้วนำไปผสมกับสารสกัดเมล็ดน้อยหน่า และคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลง เช่น การแยกชั้น การตกตะกอน และหลังจากได้เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง 24 ชั่วโมง เลือกอัตราส่วนสารลดแรงตึงผิว จนได้อัตราส่วนที่เหมาะสมต่อการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมผลิตให้ได้ลักษณะที่ดีมีความคงตัว จนได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC
“ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC เป็นสูตรที่มีความคงตัว ไม่ทำให้เกิดการสลายตัวเร็วของสารสำคัญ และการกระจายตัวในน้ำได้ดี เมื่อต้องผสมน้ำเพื่อการฉีดพ่น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC จะมีสารลดแรงตึงผิวเป็นส่วนประกอบ ทำให้น้ำกับน้ำมันเข้ากันได้ดีและไม่แยกชั้น สะดวกกับการใช้งาน”
ทดสอบประสิทธิภาพในแปลงคะน้าของเกษตรกร
คุณธิติยาภรณ์ กล่าวว่า เมื่อนำไปทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC ในห้องปฏิบัติการพบว่า มีผลทำให้หนอนใยผักตาย ระหว่าง 27.50-85.00% ต่อจากนั้นนำไปทดสอบในแปลงคะน้าของเกษตรกร โดยทำแปลงทดสอบที่จังหวัดนครปฐม และแปลงทดสอบจังหวัดกาญจนบุรีพบว่า การพ่นสารผลิตภัณฑ์น้อยหน่าสำเร็จรูป EC มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนใยผักได้ดีไม่แตกต่างกันทางสถิติจากการพ่นสารทดลอง Baeillus thuringiensis และเมื่อพิจารณาประสิทธิภาพการกำจัดหนอนใยผักพบว่า ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC ที่อัตรา 50 และ 70 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร มีประสิทธิภาพ เฉลี่ยที่ 71.20-79.49% ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับการใช้สารทดลอง Baeillus thuringiensis ที่มีประสิทธิภาพเฉลี่ยที่ 70.50-79.30% และเมื่อเทียบผลผลิตของ 2 แปลงทดลองที่จังหวัดนครปฐมและกาญจนบุรีพบว่า การให้สารทดลองสำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC ได้ผลใกล้เคียงกับสารทดลอง Baeillus thuringiensis เช่นเดียวกัน
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้ในการป้องกันและกำจัดหนอนใยผักในแปลงคะน้า และสามารถใช้เป็นสารกำจัดศัตรูพืชทางเลือกหนึ่ง เพื่อลดการใช้สารเคมีในแปลงผักของเกษตรกร และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดการทำผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น เช่น การทำผลิตด้วยวิธีนาโนเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเป็นการสนับสนุนลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกน้อยหน่าพื้นเมืองหรือน้อยหน่ากันอย่างจริงจัง เกษตรกรจะมีรายได้จากการเก็บเมล็ดน้อยหน่าที่ไร้ค่า กลายเป็นผลผลิตที่มูลค่า เพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากเมล็ดน้อยหน่าที่เหลือทิ้งจากการบริโภค เพื่อรองรับผู้ประกอบการที่สนใจจะทำผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชจากเมล็ดน้อยหน่า
ผู้ประกอบการที่สนใจจะผลิตผลิตภัณฑ์สารกำจัดศัตรูพืชจากเมล็ดน้อยหน่า เกษตรกร และผู้สนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มงานวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตรจากสารธรรมชาติ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 02-579-6123, 085-265-7076