ผู้เขียน: กรวัฒน์ วีนิล
“เราให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพสินค้า เกษตรกร ชุมชน จึงพุ่งเป้าลงพื้นที่ศึกษาสภาพสถานการณ์และศักยภาพการปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่ จ.อุดรธานี ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคก อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ผู้นำเครือข่ายในพื้นที่ ที่มีศักยภาพด้านการผลิตและจำหน่าย มีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 60 ไร่ 25,000 ต้น ผลผลิต 300-500 ตัน มีส่วนเหลือทิ้งไร่ละ 4,000-6,000 ตัน เราจึงวิจัยนำส่วนเหลือทิ้งมาผลิตเป็นกระดาษ จากนั้นต่อยอดสู่การทำภาชนะบรรจุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แล้วถ่ายทอดเพื่อเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน”
ดร.ภานุ พัฒนปณิธิพงศ์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา บอกเล่าถึงการแปรรูปของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกล้วยหอมทอง เนื่องจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคก เป็นพื้นที่ปลูกใหม่ เป็นกลุ่มไม่ใหญ่นัก พื้นที่ไม่มาก การบริหารจัดการค่อนข้างง่าย จึงนำการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้ ภายใต้แนวคิด BCG Model นำองค์ความรู้ด้านการแปรรูปของเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต นำสู่วิธีการแปรรูปเป็นกระดาษกล้วยหอมทอง
ต้นกล้วยสด 1,000 กก. สามารถแปรรูปเป็นเยื่อกระดาษได้ 500 กก. ผลิตกระดาษได้ 2,000-3,000 แผ่น สนนราคาแผ่นละ 40-60 บาท สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและกลุ่มเพิ่มขึ้นไร่ละ 80,000-150,000 บาท
“เรานำต้นกล้วยที่เป็นของเหลือทิ้งมาวิจัยพัฒนาโดยใช้ลำต้น ก้าน โคนใบ นำมาแปรรูปเป็นกระดาษด้วยวิธีการภูมิปัญญาชาวบ้านแบบทำมือ หรือกึ่งแมสในระดับอุตสาหกรรมได้ แล้วต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ โดยกระดาษตัวนี้ใช้วัตถุดิบส่วนผสมที่เราได้คิดค้นพัฒนาขึ้นมาเป็นฟู้ดเกรด สามารถใช้กับอาหารได้ มีคุณสมบัติปลอดภัย เพราะการปลูกกล้วยของกลุ่มเป็นแบบออร์แกนิก การผลิตจะไม่ใช้กลุ่มเคมีที่มีสารตกค้าง โดยแนวคิดนี้จะถ่ายทอดให้กับกลุ่มอื่น รวมทั้งนำไปขยายผลให้กับเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมทองใน จ.อุดรธานี อีกด้วย”
สำหรับสูตรส่วนผสม กรรมวิธีการผลิต ล้วนปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านสามารถทำเองในระดับครัวเรือนได้ มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ไม่ต่างจากการทำกระดาษสา เริ่มตั้งแต่นำสิ่งเหลือทิ้งที่ได้มาหั่นเป็นชิ้นย่อย นำมาต้มเพื่อเอาเนื้อเยื่อประมาณ 8-10 ชม. จากนั้นนำขึ้นมาล้างทำความสะอาด แล้วนำมาปั่นหรือตีให้กระจายตัว ต่อมานำมาเทลงเฟรมตามขนาดที่ต้องการ ตากให้แห้ง สุดท้ายจึงนำมาขึ้นรูปให้เป็นภาชนะตามที่ต้องการ.