ค้นหา

ปลูกพลูคาว แปรรูปสู่ชา

ทัยรัตน์ งอยปัดพันธ์
เข้าชม 376 ครั้ง

ผู้เขียน : กรวัฒน์ วีนิล

พลูคาวอีกหนึ่งผักมากสรรพคุณ โดยเฉพาะช่วยเรื่องของการขับถ่าย ลดความดัน มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านทานโรค ช่วยยับยั้งเบาหวาน รักษาความสมดุลของร่างกาย รักษาอาการท้องเสีย ขับพยาธิ ช่วยรักษานิ่ว ช่วยแก้โรคไต ช่วยห้ามเลือด และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบต่างๆ ทางเหนือและอีสานนิยมปลูกไว้ตามบ้าน เพื่อทำเครื่องเคียงกินกับลาบก้อย แต่น่าแปลกแม้จะมีราคาสูงถึง กก.ละ 200 กว่าบาท แต่มิใคร่เห็นคนปลูกในเชิงพาณิชย์นัก

“ชาวบ้านแถบนี้นิยมปลูกพลูคาวไว้ตามบ้านเพื่อกินอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีคนทำอย่างจริงจัง เพราะอาจมองว่าในเมื่อมีกันแทบทุกบ้าน จะขายให้ใคร แต่เรากลับมองอีกมุม ในเมื่อสังคมเมืองขยายขึ้น หลายบ้านอาจเริ่มละเลยการปลูก ที่สำคัญมีโรงงานผลิตยาและอาหารเสริมมาซื้อเพื่อนำมาสกัดสารสำคัญ ทำให้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้นไปอีก เราจึงส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกอย่างจริงจัง โดยได้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเข้ามาช่วย พัฒนาต่อยอดสู่การแปรรูปเป็นชาพลูคาวมาจนปัจจุบัน”

ทัยรัตน์ งอยปัดพันธ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสุขใจสมุนไพรไทยเต่างอย บ้านโพนปลาไหล ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร บอกถึงที่มาของการปลูกพลูคาวเชิงพาณิชย์ โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครที่ได้ทุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นพี่เลี้ยง…เริ่มแรกปลูกแบบตามมีตามเกิด ผลผลิตก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง กระทั่งได้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเข้ามาให้ความรู้ ตั้งแต่เรื่องของวัสดุปลูก การทำแคร่ปลูก การดูแลบำรุงรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต

วัสดุปลูก จากเดิมใช้ดินทั่วไปเท่าที่หาได้ เปลี่ยนเป็นขุยมะพร้าว แกลบดำ มูลสัตว์ ผสมคลุกเคล้าในอัตราส่วน 1:1 ทิ้งไว้ 2–3 วัน จึงย้ายต้นพันธุ์ที่เพาะกล้าลงปลูก ขณะที่แปลงปลูก เดิมยกสูงโดยใช้แคร่ไม้ไผ่เพื่อป้องกันน้ำหลาก พบว่าใช้ได้ไม่นานผุพัง จึงเปลี่ยนมาใช้เหล็กกล่องมาทำโครง ใช้พื้นเป็นกระเบื้องลอน มีเสาหินเป็นฐาน ทำให้สามารถใช้งานได้นานหลายปี

ส่วนการดูแลบำรุงรักษาไม่ยากนัก เพราะไม่ค่อยมีโรคแมลงรบกวน แต่จะเพิ่มเติมในส่วนของการรดน้ำหมักสูตรเฉพาะอาทิตย์ละครั้งหลังจากลงปลูก เมื่อต้นพลูคาวเริ่มตั้งต้นได้สูง 20-30 ซม. หรือลงปลูกได้ 2-3 เดือน ก็เริ่มตัดใบขายได้

ราคาขายปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละ 250 บาท ที่สำคัญพืชผักมากสรรพคุณชนิดนี้ยังมีข้อดีที่ยิ่งเด็ดใบยิ่งขึ้นดก ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี โดยจะมีไหลคล้ายไหลสตรอว์เบอร์รีแตกออกมาให้ขยายพันธุ์ต่อไปได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ยังต่อยอดส่งเสริมการแปรรูปพลูคาวเป็นชาพร้อมชง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน แม้ปัจจุบันยังเป็นแค่สินค้าโอทอป ที่ยังไม่ผ่าน อย. เพราะติดปัญหาเรื่องของสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยา และโรงงานผลิตที่ยังต้องใช้ร่วมกับโรงงานผลิตอาหาร ซึ่งผิดระเบียบของ อย. ที่ต้องมีโรงงานผลิตเฉพาะ แต่คาดว่าจะสามารถผ่านหลักเกณฑ์ของ อย.ได้ในเร็วๆนี้ สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 08-8436-4405.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2708160