ผู้เขียน : พงษ์พรรณ บุญเลิศ
ลวดลายสวยงามบนผืนผ้าบาติก ในกระบวนการผลิตดั้งเดิม ใช้วิธีการสร้างลวดลายด้วยการเขียนเทียนไข โดยนำมาละลายด้วยความร้อนก่อนใช้เขียน
แต่นอกจากเทคนิคอุปกรณ์ดังกล่าว แป้งจากหัวบอน ต้นบอนที่ขึ้นตามแหล่งนํ้าพบทั่วไปทุกภูมิภาค ที่ผ่านมานักวิจัยนำมาศึกษาคิดค้นแปรรูปเป็น สารกั้นสี ใช้เขียนวาดลายผ้าบาติก เพนต์และพิมพ์ผืนผ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“บอน” พืชล้มลุกที่ขึ้นอยู่ตามแหล่งนํ้าที่เกิดขึ้นทั่วไปตามธรรมชาติ พืชชนิดนี้นอกจากนําส่วนก้านไปทําอาหาร ส่วนหัวที่อยู่ใต้ดินเป็นส่วนที่มีแป้งอยู่ในปริมาณมากส่วนนี้ โดยที่ผ่านมายังไม่มีการนํามาใช้ประโยชน์มากนัก จากที่กล่าวจากการศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าให้กับหัวบอนวัสดุเหลือใช้
ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครและทีมวิจัยได้ศึกษานำหัวบอนมาแปรรูป นำมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการทำผ้าบาติก การพิมพ์และเพนต์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อีกทั้งผลิตสีผงสีธรรมชาติเพิ่มคุณค่าให้กับพืชท้องถิ่นสร้างเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก
ทั้งนี้ชวนค้นเรื่องน่ารู้แป้งจากหัวบอนที่นำมาแปรรูปใช้กั้นสี เพิ่มทางเลือกการสร้างสรรค์ สร้างเอกลักษณ์ให้ผืนผ้า โดยหัวหน้าทีมวิจัย ผศ.ดร.รัตนพลให้ความรู้เล่าถึงการวิจัยว่า ในเรื่องของบอนที่ผ่านมาเรามีงานวิจัยต่อเนื่อง ศึกษามายาวนานโดยเฉพาะการนำแป้งบอนใช้เป็นสารกั้นสี พัฒนาปรับปรุงสูตรเรื่อยมา กระทั่งปัจจุบันสามารถแปรรูปเป็นผงละลายนํ้านำมาใช้ได้ทันที
“บอนเป็นพืชที่ขึ้นทั่วไปในธรรมชาติ หัวบอนมีลักษณะคล้ายกับเผือกโดยคุณสมบัติของหัวบอนคือมีแป้งเป็นส่วนประกอบอยู่เยอะมาก แต่ทว่ายังไม่ค่อยมีการนำไปใช้ประโยชน์ใด ๆ จึงนำมาศึกษา ปรับปรุงกระบวนการ กระทั่งเป็นสูตรที่สามารถละลายนํ้าใช้ได้ทันที โดยระยะแรกของการวิจัยนำมาใช้ในงานพิมพ์ผ้า ส่วนครั้งนี้นำมาใช้แทนเทียนไขใช้เป็นสารกั้นสี โดยงานวิจัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)”
จากที่ผ่านมางานวิจัยได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชนทางภาคใต้ทั้งที่จังหวัดสงขลา จังหวัดกระบี่และจังหวัดสตูล รวมถึงวิสาหกิจชุมชนภาคตะวันออก ได้ทดลองเขียนวาดลวดลายบนผืนผ้าบาติกแทนเทียนไขซึ่งจากการนำไปใช้ แป้งหัวบอนเมื่อละลายนํ้าแล้วสามารถนำมาเพนต์สีใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการความร้อน
“เทียนไขที่ใช้เขียนลายจะใช้ความร้อนให้เทียนละลายแล้วจึงนำไปเขียนบนผ้า จากนั้นจึงลงสีระบายสีแล้วต้องนำไปต้มด้วยความร้อนเพื่อให้เทียนที่เขียนหลุดออกไป โดยบางครั้งเทียนไขหลุดรอดไปติดขอบท่อนํ้าซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการเขียนลายด้วยเทียนไขสำหรับกลุ่มเด็กที่สนใจทำผ้าบาติกอาจไม่สะดวกการใช้แป้งบอนที่ละลายนํ้านำมาใช้กั้นสีแทนเทียนไขจึงเป็นอีกคำตอบ
อีกทั้งเมื่อเขียนลาย ระบายสีเสร็จสามารถปล่อยวางผืนผ้าให้แห้ง จากนั้นนำไปแช่นํ้าแป้งบอนที่ใช้กั้นสีจะหลุดออกไป โดย ไม่ต้องนำไปต้มใช้ความร้อนใด ๆ ช่วยประหยัดเวลาและตัวแป้งซึ่งเป็นธรรมชาติจะละลายไปพร้อมกับนํ้า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”
อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอ ผศ.ดร.รัตนพลให้ความรู้เพิ่มอีกว่า บอนเป็นพื้นที่ขึ้นอยู่ทั่วไปทุกภูมิภาคขึ้นอยู่ตามแหล่งนํ้าที่เฉอะแฉะ โดยส่วนที่เรานำมาใช้งานคือ ส่วนหัว แต่การจะนำมาใช้ก็มีข้อที่ควรระวังคือ บอนมีสารที่ทำให้คัน แต่อย่างไรแล้วภูมิปัญญาไทยใช้รสเปรี้ยว ใช้ส้มมะขาม โดยเราใช้นํ้าส้มสายชูชะล้างก่อนนำมาใช้
จากที่กล่าวหัวบอนมีปริมาณแป้งอยู่มาก มีความเป็นธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการเริ่มต้นวิจัยนำมาใช้พิมพ์ผ้าซึ่งมีคุณสมบัติดีมีความหนืด จากนั้นนำศึกษาต่อยอดนำมาทำเป็นสารกั้นสีแทนเทียนไข โดยที่สำคัญหลังเสร็จสิ้นกระบวนการทำบาติก การใช้แป้งหัวบอนกั้นสีไม่ต้องนำไปต้ม ใช้แค่การแช่นํ้าโดยแป้งจะหลุดละลายออกหมด เกิดเส้น ลวดลายบนผืนผ้าชัดเจน
ผศ.ดร.รัตนพลขยายความเพิ่มอีกว่า ผงแป้งหัวบอนเมื่อนำมาละลายนํ้าจะเป็นสีนํ้าตาล แต่จะไม่ติดผ้า เมื่อแช่นํ้าซักเบา ๆ จะหลุดออกไปเหมือนกับการกั้นสีด้วยเทียนไข ที่กั้นไม่ให้สีเลอะออกมาด้านนอก ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ลวดลายแป้งบอนที่ปรากฏบนผืนผ้า พบว่าแป้งบอนสามารถยึดเกาะบนผืนผ้าได้ดี สามารถทะลุลงสู่ด้านนอกอยู่ในขอบเขต และเมื่อนำสีธรรมชาติ หรือสีเคมีเพนต์ลงบนผืนผ้าปรากฏว่าแป้งบอนดัดแปรสามารถกั้นสีได้ สีไม่แทรกซึมออกไปด้านข้าง โดยที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดความรู้ เพิ่มเป็นอีกทางเลือกการสร้างสรรค์ การใช้งาน
“แป้งหัวบอนที่นำมาใช้ นอกจากข้อเด่นดังที่กล่าว ทั้งไม่ต้องใช้ความร้อน ทั้งเป็นสารกั้นสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของแป้งบอนดัดแปรที่นำมาใช้แทนเทียนไขต้องใช้แสงแดดในการทำให้แป้งบอนที่เขียนลงบนผืนผ้าแห้งแต่จากที่ได้ถ่ายทอดความรู้ในพื้นที่ภาคใต้ โดยภาคใต้สภาพภูมิอากาศมีความชื้น ฝนตกบ่อย การวิจัยในอนาคตจึงต้องนำมาพัฒนาหาวิธีการทำให้แป้งบอนแห้งเร็วกว่าเดิมเพื่อป้องกันปัญหาไม่มีแสงแดด”
แต่อย่างไรแล้วหากมีแดดเยอะ แดดกลางวันทั่วไป เพียงแค่หนึ่งชั่วโมงก็ทำให้แป้งบอนแห้งได้และนอกจากประโยชน์ใช้กั้นสีในงานบาติก ผศ.ดร.รัตนพลเล่าเพิ่มทิ้งท้ายถึงการใช้แป้งหัวบอนในงานพิมพ์ โดยที่ผ่านมานำมาพิมพ์ครามซึ่งโดยปกติ สีครามจะไม่ค่อยนำมาใช้พิมพ์ผ้า จะใช้ย้อมมากกว่า นอกจากนี้ทีมวิจัยังพัฒนาต่อยอดทำชุดอุปกรณ์ผ้าบาติก โดยใช้สีธรรมชาติให้ผู้สนใจได้ฝึกฝน ทดลองสร้างสรรค์ โดยในชุดมีอุปกรณ์จัดเตรียมไว้ครบพร้อม
ขณะเดียวกันมีโพรดักส์อีกหลากหลายทั้ง กระเป๋า ชุดเสื้อผ้า อย่างเช่น กางเกงเล ใช้การเขียนแป้งบอนสร้างสรรค์ลวดลาย ใช้สีครามธรรมชาตินำมาระบาย โดยเมื่อล้างแป้งบอนออกจะเป็นเส้นสีขาวและเพื่อเน้นลายให้เด่นชัด ใช้เทคนิคการเนาตกแต่งเพิ่มความหลากหลายเพิ่มขึ้น หรือ กระเป๋า ใช้สีธรรมชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสีจากคราม ครั่ง หรือมะพูด ฯลฯ ทั้งใช้แป้งหัวบอนนำมากั้นสี ใช้การปัก การเนาตกแต่งเพิ่มความสวยงาม เป็นต้น
นอกจากนี้ศึกษาวิจัยผลิตผงสีธรรมชาติซึ่งเริ่มจากความสนใจของนักศึกษาโดยร่วมกันพัฒนาต่อยอด ผลิตผงสีจากธรรมชาติ จากพืชในท้องถิ่น ทั้งนี้ในเรื่องของผงสีจะนำมาใช้ในงานพิมพ์ งานเพนต์วัสดุสิ่งทอเป็นหลักจะไม่นำมาใช้ย้อมผ้า อย่างเช่น พืชในท้องถิ่นภาคใต้ศึกษา เปลือกฝักสะตอ เปลือกลูกเนียง ฯลฯ นำมาสกัดสีซึ่งให้สีนํ้าตาล สีเนื้อ อีกทั้งยังมีสีอื่น ๆ อีกหลากหลายจากท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น สีเหลืองจาก มะพูด ดาวเรือง เข ฯลฯ
ขณะที่สีนํ้าเงินได้จาก ครามธรรมชาติ รวมถึงการผสมสีธรรมชาติระหว่างกันก็จะได้เฉดสีสวยงามเพิ่มเติม โดยสามารถแตกสีสร้างสรรค์ได้อีกหลากหลาย โดยสีจากธรรมชาติจะมีความละมุนไม่สว่างจ้า เป็นสีที่มีเอกลักษณ์ซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอีกส่วนหนึ่งร่วมบอกเล่างานเพนต์งานพิมพ์สิ่งทอ
การใช้พืชให้สีที่มีในท้องถิ่น พืชเหลือใช้นำกลับมาสร้างสรรค์ประโยชน์ เพิ่มมูลค่า สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีเอกลักษณ์