ค้นหา

ภัยเงียบ “เอลนีโญ” สนทช.คาดน้ำเขื่อนลดกว่า 1 หมื่นล้านลบ.ม. จ่องดนาปรัง

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) 
เข้าชม 257 ครั้ง

สนทช.ประเมิน “เอลนีโญ” ทำให้ฝนตกน้อยกว่าปกติ น้ำต้นทุนที่จะใช้ฤดูแล้งปี 2566/67 อาจจะน้อยกว่าปีที่แล้วเกือบ 10,000 ล้านลบ.ม. เดินหน้านำเทคโนโลยีฝน One Map วางแผนจัดการน้ำ แม่นยำสูง-แจ้งเตือนอย่างมีประสิทธิภาพ หวังพายุเข้าไทย 1-2 ลูก ตามกรมอุตุฯคาดการณ์มาช่วย

นายบุญสม ชลพิทักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ปริมาณฝนตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันตกสะสมน้อยกว่าค่าปกติถึง 19% โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นไปปรากฎการณ์เอลนีโญจะเริ่มเด่นชัดมากขึ้น ไปจนถึงเดือนเมษายน 2567 ทำให้ต้องมีการทบทวนเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำและวางแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์  

โดยในเดือนสิงหาคม 2566 ปริมาณฝนยังคงตกสะสมต่ำกว่าค่าปกติเล็กน้อย จนถึงเดือนกันยายน 2566 ปริมาณถึงจะใกล้เคียงค่าปกติ  

และในเดือนตุลาคม 2566 ฝนจะตกมากกว่าค่าปกติ แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2566  ปริมาณฝนจะตกน้อยกว่าค่าปกติอีกครั้ง โดยจะน้อยลงถึง 34% 

นายบุญสม ชลพิทักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

ทั้งนี้ คาดว่าหลังสิ้นสุดฤดูฝน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 35,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้อยกว่าช่วงเดียวกันปี 2565 ประมาณ 9,800 ล้าน ลบ.ม.

แต่ถ้าหากมีพายุพาดผ่านประเทศไทย 1-2 ลูก ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ จะทำให้มีน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนมากขึ้น ปริมาณน้ำที่ใช้การได้จะมากกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้การวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

 รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า แม้จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติก็ตาม แต่ยังหวังว่าในช่วงปลายฤดูฝนตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2566 ฝนจะตกเพิ่มขึ้นและตกหนักในหลายพื้นที่ อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ได้ โดย กอนช. ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยพบว่า ในเดือนสิงหาคม 2566 มีพื้นที่เสี่ยงภัยจำนวน 1,238 ตำบล ในเดือนกันยายน 2566 จำนวน 1,986 ตำบล และในเดือนตุลาคม 2566 มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยถึง 2,175 ตำบล 

ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำทั้ง 42 หน่วยงานจะต้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ของ กอนช. อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตามในระยะยาวตั้งแต่ปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 มีแนวโน้มสูงที่ปริมาณน้ำต้นทุนจะอยู่ในสถานการณ์น้ำน้อย สทนช. จึงได้แจ้งให้ทุกหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันภายใต้ กอนช. กำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี พร้อมออกมาตรการรองรับหากต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน

เช่น งดการทำนาปรัง รณรงค์ปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยออกมาตรการชดเชยต่างๆ ให้เกษตกร เป็นต้น รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด พร้อมปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) โดยให้เก็บกักน้ำในระดับเกณฑ์เก็บกักน้ำดับสูงสุด (Upper Rule Curve) ของอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง พรัอมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนให้น้ำอย่างประหยัดรู้คุณค่า 

และขอความร่วมมือให้เก็บกักน้ำไว้ในแหล่งเก็บกักน้ำของตัวเองให้ได้มากที่สุดด้วย เพื่อจะได้มีน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้ในฤดแล้งปี 2566/67 อย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม กอนช. ให้ความมั่นใจได้ว่า จะมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการผลักดันน้ำเค็มตลอดทั้งปี” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว

นายบุญสม  กล่าวด้วยว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ใช้เทคโนโลยีฝน One Map มาใช้ในการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ พยากรณ์น้ำฝน น้ำท่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ พื้นที่เสี่ยงภัย ในระยะตั้งแต่ 3 วัน 7 วัน และ 6 เดือน ซึ่งมีความแม่นยำค่อนข้างสูงประมาณ 80% ทำให้สามารถวางแผนรับมือสถานการณ์และเตือนภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนวางแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/572988