ค้นหา

คุมเข้มเกษตรกรห้ามขนย้ายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังป้องกันโรคใบด่างระบาด

สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม
เข้าชม 420 ครั้ง

แนะเกษตรกรใช้หลัก “อย่า หา ทำ” คุมเข้มเกษตรกรห้ามขนย้ายท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ป้องกันโรคใบด่างระบาด วอนเกษตรกรร่วมมือกันปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด

น.ส.กัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม  กล่าวว่า  โรคใบด่างมันสำปะหลัง ถือเป็นโรคร้ายแรงที่สำคัญของมันสำปะหลัง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) โดยมีแมลงหวีขาวยาสูบเป็นพาหะนำโรค สำหรับแมลงหวี่ขาวมักจะอยู่ตามพืชอาศัย เช่น มันสำปะหลัง มันฝรั่ง กะเพรา โหระพา พืชตระกูลพริกมะเขือ และพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น และเชื้อไวรัส มักจะอาศัยตาม มันสำปะหลัง สบู่ดำ ละหุ่ง และยางพารา เมื่อโรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดการระบาด จะทำให้มันสำปะหลังมีอาการใบด่าง เหลือง ใบเสียรูปทรง และยอดที่แตกใหม่จะแสดงอาการด่างเหลือง ลำต้นแคระแกร็น และสำหรับแนวทางในการแก้ไขป้องกันการระบาดเกษตรกรสามารถทำได้ง่าย เช่น ห้ามนำเข้าท่อนพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์จากต่างประเทศ ควรที่จะต้องใช้ท่อนพันธุ์ที่ปลอดโรค หมั่นสำรวจแปลงมันสำปะหลังอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง กำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของพืชไวรัส และพืชอาศัยของแมลงพาหะ ในบริเวณแปลงปลูกมันสำปะหลังและบริเวณใกล้เคียง 

ขณะนี้ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ เกี่ยวกับมาตรการการจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลังให้แก่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วในเบื้องต้น รวมถึงการแจ้งให้สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ สำรวจ เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ของโรคใบด่างอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด โดยให้มีการรายงานสถานการณ์ของศัตรูพืชในระบบของกรมส่งเสริมการเกษตรในทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ให้มีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีข้อแนะนำให้สำนักงานเกษตรจังหวัด อำเภอ ดำเนินการ และหากพบการระบาดให้ดำเนินการทำลายอย่างถูกต้อง ตามหลักวิชาการ ได้แก่ 1.วิธีฝังกลบ โดยฝังกลบต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค และต้นข้างเคียงโดยรอบ ในหลุมที่ลึกไม่น้อยกว่า 50 ซม. ราดด้วยสารกำจัดวัชพืช อะมีทรีน 80% WG ซัลเฟนทราโซน 48% SC ไดยูรอน 80% WP อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน 2.วิธีใส่ถุง/กระสอบ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตัดเป็นท่อนใส่ถุง / กระสอบมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย 3.วิธีบดสับ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคเข้าเครื่องบดป่นหรือเครื่องสับย่อย โดยปูพลาสติกรองพื้นให้เศษต้นที่ถูกทำลายอยู่บนพลาสติก แล้วคลุมกองด้วยพลาสติกตากแดดให้ต้นมันสำปะหลังแห้งตาย  “ทั้งนี้ ขอย้ำให้เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ไม่ใช้ท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคเด็ดขาด ห้ามการนำเข้าและเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังก่อนได้รับอนุญาต เพื่อป้องกันการระบาดของโรคใบด่างในพื้นที่จังหวัดนครพนม

การหยุดการระบาด ของโรคใบด่างมันสำปะหลัง “อย่า หา ทำ”   อย่า  นำพันธุ์ที่อ่อนแอ เช่น มันสำปะหลังพันธุ์ 89 และระยอง 11 มาปลูก อย่า  นำพันธุ์ที่เป็นโรคมาปลูก  อย่า  นำท่อนพันธุ์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มามาปลูก   หา หาต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่สะอาดและทนทานต่อโรคใบด่างมาปลูก ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60  ทำ ทำการตรวจแปลงสม่ำเสมอ  ทำ  ทำลายต้นเป็นโรค  ทำ  ทำตามระเบียบการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรร่วมมือกันปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด  เพื่อป้องกันการเกิดโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่จังหวัดนครพนม และหากเกษตรกรพบมันสำปะหลังแสดงอาการของโรคใบด่างในพื้นที่ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ สำนักงานจังหวัดนครพนม และสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่านทันที

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/2646369/