ค้นหา

ชาวสวนรุ่นใหม่ ทำเกษตรแบบอิสราเอล ปลูกพืชผสมผสาน สวนสวย-ระบบน้ำเป็นเลิศ

คุณยุทธนา คามบุต
เข้าชม 602 ครั้ง

ผู้เขียน : ธาวิดา ศิริสัมพันธ์

คุณยุทธนา คามบุตร หรือ คุณเบิร์ด ต้นแบบเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ในการจัดการดูแลสวนผสมผสาน พร้อมกับการวางแผนจัดการแปลงปลูกอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะระบบน้ำที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำเกษตร ส่งผลในแง่ของปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้ตามความต้องการ และได้สวนสวยตามที่ฝันไว้อีกด้วย

คุณเบิร์ด เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก ตนเองเคยทำงานประจำในตำแหน่งเจ้าพนักงานการเกษตรมาก่อน ปัจจุบันลาออกจากงานมาทำสวนเป็นของตนเองได้เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้ว ด้วยเหตุผลที่เหมือนกับหลายๆ คนคือต้องการกลับบ้านมาอยู่กับครอบครัว ประกอบกับการที่ได้ทำงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการเกษตรทำให้มองเห็นโอกาสหลายๆ อย่าง และที่บ้านก็ประกอบอาชีพเกษตรมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เริ่มต้นที่สมัยรุ่นคุณปู่เป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ทำสวนมะม่วง สวนกระท้อน พอมาถึงรุ่นคุณพ่อเปลี่ยนมาปลูกพืชไร่ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด จนมาถึงรุ่นตนเองกลับมาสานต่อการปลูกพืชไร่จากคุณพ่อ พร้อมกับการขยายพื้นที่ปลูกไม้ผล ได้แก่ ฝรั่งกิมจู ฝรั่งหงเป่าสือ และพุทราน้ำอ้อย โดยปัจจุบันที่บ้านมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดประมาณ 90 กว่าไร่ แบ่งปลูกพืชไร่ 70 ไร่ สวนป่า 10 กว่าไร่ ไม้ผล 6 ไร่ และกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการขยายพื้นที่ปลูกส้มขาวแตงกวาอีก 2 ไร่

คุณยุทธนา คามบุตร หรือ คุณเบิร์ด

ซึ่งกำลังเป็นช่วงที่ให้ความสำคัญกับการจัดการแปลงปลูกไม้ผลมากเป็นพิเศษ เนื่องจากพืชไร่มีระบบการจัดการที่ลงตัวแล้ว เน้นอาศัยน้ำฝนช่วยดูแลเป็นส่วนใหญ่ จึงมีเวลามาพัฒนาแปลงปลูกไม้ผลได้อย่างเต็มที่ โดยวางแผนปลูกให้ออกมาในรูปแบบของสวนสวยงาม เป็นระบบระเบียบ จัดการง่าย มองแล้วสบายตา มีฝรั่งกิมจู ฝรั่งหงเป่าสือ และพุทราน้ำอ้อย เป็นพืชหลักทำเงิน

ฝรั่งกิมจู ผิวสวย รสชาติหวานกรอบ

ด้วยจุดเด่นของฝรั่งที่สวน มีรสชาติที่หวานกรอบ อร่อย และพุทราน้ำอ้อย ที่มีรสชาติหวานกรอบ กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน เทคนิคอยู่ที่การจัดการดูแลที่ทางสวนจะนำหลักวิชาการเข้ามาใช้ในเรื่องของการบำรุงใส่ปุ๋ย เพื่อเพิ่มความหวาน ซึ่งเป็นความรู้ที่เคยศึกษาเล่าเรียนมาผสมผสานกับการทำงานที่ได้พบเจอกับแปลงของเกษตรกร มีโอกาสได้เจอพืชหลากหลายก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากตรงนั้นมาประยุกต์ใช้ในแปลงของตนเอง

“จากประสบการณ์ที่ทำงานอยู่กับกรมวิชาการเกษตร เราอยู่กับสารเคมี อยู่กับการวิเคราะห์ การทดลองมาตลอด ทำให้รู้เบื้องต้นว่าสารบำรุงหรือป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชตัวไหนที่ใช้แล้วไม่เป็นอันตราย ไม่ทำให้เกิดสารตกค้าง หรือตัวไหนที่ใช้แล้วมีสารตกค้าง รวมไปถึงการฉีดพ่นควรเว้นระยะกี่วัน ก็เอาตรงนี้มาปรับใช้ในสวน จนผลผลิตได้รับรองมาตรฐาน GAP และยังมีในส่วนของการส่งผลผลิตฝรั่งไปตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างก็ไม่พบสารที่ตกค้าง ตรงนี้เลยเป็นจุดเด่นของสวนเรา”

ทำเกษตรแบบอิสราเอล ให้ความสำคัญกับระบบน้ำเป็นอันดับหนึ่ง

คุณเบิร์ดนับเป็นอีกหนึ่งเกษตรกรโดยสายเลือด ที่นอกจากที่บ้านจะเป็นเกษตรกรมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว ตัวคุณเบิร์ดเองก็เรียนจบจากสาขาพืชศาสตร์ ซึ่งพอเรียนจบออกมาก็ได้ทำงานที่กรมวิชาการเกษตร ประกอบกับในครั้งตอนที่กำลังศึกษาอยู่ชั้น ปวส. ก็ได้มีโอกาสไปเป็นนักศึกษาฝึกงานที่ประเทศอิสราเอล คุณเบิร์ดจึงมีโอกาสได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากงานด้านการเกษตรมาไม่น้อย

สวนสวย เป็นระเบียบ จัดการง่าย

ซึ่งคุณเบิร์ดเล่าถึงประสบการณ์ตอนที่เป็นนักศึกษาฝึกงานให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่มีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ประเทศอิสราเอลถือเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมากๆ เพราะตนเองได้ไปเรียนรู้วิชาด้านการเกษตรกับประเทศที่ถือว่าเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรทั่วโลกอย่างอิสราเอล โดยเฉพาะเรื่องของระบบการจัดการน้ำ เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศเล็กๆ อยู่กลางทะเลทราย จุดเด่นของเขาจะเป็นในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ทั้งระบบน้ำหยด และระบบมินิสปริงเกลอร์ ก็ได้เรียนรู้จากตรงนั้นมา แล้วนำมาปรับใช้ในสวนของตนเองแล้วได้ผลดีมากๆ

“ตอนที่เราไปอยู่ที่อิสราเอล เราได้ทำงานหลายอย่างมาก โดยเราได้ไปทำแปลงปลูกพริกหวาน ก็ไปฝึกงานไปเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว แล้วเราก็ทำงานวิจัยเกี่ยวกับข้อเปรียบเทียบระหว่างการปลูกพืชแบบแถวเดี่ยว กับแถวคู่ ว่ามีความแตกต่างกันยังไง ปลูกแบบไหนได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากัน รวมไปถึงเรื่องของปริมาณและขนาดของผลผลิตที่ต้องเอามาเปรียบเทียบกันด้วยว่า ได้ขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่ แบบไหนได้ดีกว่ากัน แล้วมาเทียบเรื่องการคุ้มค่าในการลงทุนอีกด้วย สิ่งนี้ที่แตกต่างจากการทำเกษตรของไทย”

แปลงสะอาด ง่ายต่อการจัดการดูแล

และนอกจากการให้ความสำคัญกับระบบน้ำและด้านการผลิตแล้ว ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากประเทศอีกข้อก็คือที่อิสราเอลจะเน้นใช้หลักวิชาการในการทำเกษตร โดยเจ้าของแปลงจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ทางด้านการเกษตรก่อนถึงจะมาเป็นเกษตรกรได้ และยังมีนักวิชาการประจำแปลงคอยเข้ามาตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างในสถานการณ์เกิดโรคแมลงระบาด ถ้านักวิชาการสั่งให้ถอนทิ้งทั้งแปลงก็ต้องถอนเพื่อกันการรุกรานของโรคไปที่อื่น ตรงนี้ถือว่ามีความเข้มงวดมาก

ซึ่งตนเองก็ได้นำเอาประสบการณ์ตรงนั้นมาประยุกต์ใช้ที่สวนของตนเองในด้านของระบบน้ำเข้ามาช่วย เนื่องจากพื้นที่ของสวนเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน มีความคล้ายคลึงกับอิสราเอล โดยเลือกใช้เป็นระบบมินิสปริงเกลอร์ ที่มีการจัดการวางระบบจากการคำนวณตามหลักของวิศวะ คือการคำนวณอัตราการไหลของน้ำ คำนวณตามหัวจ่าย แล้วนำมาติดตั้งในระบบของเราเอง เพื่อให้ปริมาณน้ำเหมาะสมต่อความต้องการของพืชแต่ละชนิด

พุทราน้ำอ้อย อนาคตพืชสร้างรายได้หลัก ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด

ก่อนที่จะเข้าเรื่องวิธีการปลูกพุทราน้ำอ้อย คุณเบิร์ด บอกว่า นอกจากที่สวนจะเด่นเรื่องของการบริหารจัดการระบบน้ำแล้ว ยังมีอีกจุดเด่นที่ถือเป็นความภูมิใจคือการจัดการพื้นที่ที่เป็นมากกว่าแปลงปลูกผลไม้ เพราะมีการจัดระบบแปลงปลูกให้เป็นระเบียบสวยงาม ช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น และสามารถใช้สอยประโยชน์จากพื้นที่ได้คุ้มค่ามากขึ้น

พุทราน้ำอ้อย ลูกใหญ่ๆ ผิวสวยๆ พร้อมส่งถึงมือลูกค้าแล้ว

โดยพุทราน้ำอ้อย เป็นสายพันธุ์มาจากไต้หวัน มีชื่อว่า “กานเจ้อจ่าว” แต่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “พุทราน้ำอ้อย” เป็นพุทราที่มีรสชาติหวานอร่อยกว่าพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกในบ้านเรา ซึ่งนอกจากรสชาติที่หวานอร่อยจนติดใจแล้ว พุทราน้ำอ้อยยังมีจุดเด่นในเรื่องของผลที่ค่อนข้างใหญ่ ผลเกือบเท่าแอปเปิ้ลเขียวเลยทีเดียว ที่สำคัญยังให้ผลผลิตดกมาก

ปัจจุบันในประเทศไทยยังมีพื้นที่ปลูกไม่มาก ทำให้เกิดความสนใจทดลองนำต้นพันธุ์มาปลูกเพื่อทดลองตลาดว่าถ้าปลูกแล้วจะขายได้ดีหรือเปล่า เนื่องจากราคาของพุทราสายพันธุ์นี้ค่อนข้างสูง ที่สวนได้ทดลองปลูกบนพื้นที 1 ไร่ ผลผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจ และได้ผลตอบลัพธ์จากลูกค้าที่ดีมาก จึงได้ทำการขยับขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

วางระบบน้ำทั่วถึง

การเตรียมดิน ก่อนเตรียมดินที่สวนจะวางระบบผังแปลงก่อน แล้วไถเตรียมแปลง กำหนดระยะปลูก เพื่อให้ได้แถวที่ตรงกัน จากนั้นวางระบบน้ำให้เรียบร้อย ขุดหลุมปลูกกว้าง 30x30x30 เซนติเมตร นำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงหลุมปลูก โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม ปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 5×5 เมตร หลังปลูกเสร็จรดน้ำด้วยระบบมินิสปริงเกลอร์ 3 วันครั้ง ไปจนถึงวันเก็บเกี่ยว

การบำรุงใส่ปุ๋ย หลังปลูก 1 เดือนให้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 ผสมกับปุ๋ยขี้วัวในครั้งแรก หลังจากนั้นให้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 อย่างเดียวเดือนละครั้ง ปริมาณตามขนาดต้น พอเริ่มออกดอกใส่ปุ๋ยสูตร 12-6-30 เพื่อเพิ่มการออกดอก ติดผลและเพิ่มรสชาติ ความหวาน เนื้อกรอบ โดยจะใส่เดือนละครั้งไปจนเก็บเกี่ยว ใช้เวลาการปลูกไม่ถึง 1 ปี เก็บเกี่ยวผลผลิตได้

“ในช่วงทำดอก ให้ติดผล หรือประมาณเดือนตุลาคม เราเริ่มทำยอดเพื่อให้ต้นแตกยอดใหม่ออกมา แล้วพอแตกตามาก็จะมีดอกมาเลย ช่วงนี้จะฉีดพ่นด้วยแคลเซียมโบรอนและธาตุอาหารเสริมทางใบพวกสาหร่ายทะเล ในอัตราส่วนสาหร่ายทะเล 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมกับแคลเซียมโบรอน 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้ในการฉีดพ่นเพื่อบำรุงการติดดอกออกผล ปริมาณการฉีดที่สวนจะคอยสังเกตอาการของพืชเป็นหลัก ไม่มีระยะที่ตายตัว”

ขั้นตอนการปลูกถือว่าไม่ยุ่งยาก แต่เคล็ดลับการทำให้พุทราผิวสวย สำคัญที่ขั้นตอนการห่อผล เพราะที่สวนไม่ได้ปลูกพุทราแบบกางมุ้ง โดยที่สวนจะเริ่มห่อตั้งแต่ผลขนาดเท่าหัวแม่โป้งมือ ใช้ถุงพลาสติกขนาด 6×10 ในการห่อผลเจาะรูที่ก้นถุงเพื่อไม่ให้น้ำขัง ซึ่งข้อดีของการปลูกแบบที่ไม่ได้กางมุ้ง ผลผลิตจะมีผิวที่ฉ่ำกว่า คงความกรอบได้นานกว่าการปลูกพุทรากางมุ้ง

ปริมาณผลผลิต-การตลาดเป็นที่น่าพอใจ ปลูก 1 ไร่ ทำรายได้เดือนละหมื่น

สำหรับปริมาณผลผลิต คุณเบิร์ด บอกว่า เป็นที่น่าพอใจทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยคาดการณ์ผลผลิตปีนี้อยู่ที่ 50 กิโลกรัมต่อต้น เป็นผลผลิตเกรดเอทั้งหมด มีขนาดลูก 6-8 ลูกต่อกิโลกรัม ขายได้ในราคากิโลกรัม 150 บาท ส่วนในด้านของการตลาดหลักๆ ขายอยู่ในตัวเมืองชัยนาท ตามสถานที่ราชการ โรงพยาบาล และศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าประจำที่มีกำลังซื้อ ปลูก 1 ไร่ สร้างรายได้เดือนละหมื่น ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับการทำไร่ เพราะการทำไร่ต้องอาศัยน้ำฝน บางครั้งต้องประสบช่วงฝนแล้ง ได้ผลผลิตไม่ดีบ้าง พอมาคิดต้นทุนและกำไรแล้วเหลือรายได้ไม่ต่างกันเลย ในขณะที่ต้องทำพืชไร่ 60-70 ไร่ กับทำพืชสวน 4-5 ไร่ แต่เหลือรายได้พอๆ กัน แต่เหนื่อยน้อยกว่า ลงทุนน้อยกว่า

จัดเป็นกระเช้าของฝาก รับรองมาตรฐาน GAP

“การทำตลาดเป็นปัญหาหลักของเกษตรกร ที่ปัญหาส่วนใหญ่คือเห็นใครปลูกแล้วดีก็ปลูกตามกัน สุดท้ายทำตลาดไม่ได้ แต่สำหรับผมมองว่าถ้าเราไม่กล้าออกไปหาตลาดเลย เราก็จะไม่รู้ถึงกลุ่มลูกค้า แรกๆ บางคนไม่อยากขายของ ขายของไม่เป็น กลัวจะขายไม่ได้ ก็เลยขายถูก พอขายไม่ได้ก็ขาดทุน เพราะเนื่องจากเราหากลุ่มลูกค้าไม่เจอ อย่างตอนแรกผมขายฝรั่งกิโลละ 20 บาท เราก็ขายได้แค่ในตลาดแถวบ้าน จนปัจจุบันผมขายฝรั่งไส้แดงของผมได้กิโลละ 100 บาท เพราะเราขยับมองลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มีกำลังซื้อของเรา แล้วก็เริ่มใช้ประโยชน์จากโซเชียลในการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก จากนั้นก็เริ่มมีกลุ่มลูกค้าเข้ามามากขึ้น และพูดกันปากต่อปากว่าผลผลิตของเราดียังไง รสชาติหวานกรอบ อร่อย ได้มาตรฐาน เขาก็จะไปบอกต่อกัน บวกกับที่ได้รับโอกาสติดต่อให้ไปร่วมงานแสดงสินค้าบ้าง ก็ถือเป็นโอกาสโฆษณาสินค้าให้สวนของเราไปในตัว” คุณเบิร์ด กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 097-462-5498 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : สวนลุงเบิร์ด

ผลิตภัณฑ์น้ำฝรั่งแปรรูปจากสวนลุงเบิร์ด
มีคณะเข้ามาศึกษาดูงานที่สวนลุงเบิร์ด
แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_256091