อุตรดิตถ์ ข้าวสารถุงปรับราคาสูง โรงสีข้าวเปลือกหมดหน้าตัก ตระเวนซื้อตามยุ้งฉางชาวบ้าน คาดสถานการณ์บานปลายถึง ปลายปี’66 ชน ต้นปี’67 เชื่อราคาข้าวปีนี้พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง
21 ส.ค. 66 – ที่โรงสีข้าวสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด แหล่งรับซื้อข้าวเปลือกและผลิตข้าวสารบรรจุถุง “ดีอุดม” เพื่อจำหน่าย นายประพันธ์ มายรรยง ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด พร้อมด้วย จนท.ฝ่ายผลิตและการตลาด
ลงพื้นที่สำรวจสต็อกข้าวเปลือกและข้าวสารบรรจุถุง ของสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา เนื่องจากจำนวนข้าวเปลือกปัจจุบันมีเพียงซื้อมาขายไป ไม่สามารถสต็อกไว้ได้ หลังพ่อค้าโรงสีขนาดใหญ่กว้านรับซื้อในราคาที่สูง ผลจากราคาข้าวสารในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น หลังประเทศอินเดียระงับการส่งออกข้าว ส่งผลให้ราคาข้าวทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น และตอนนี้ราคาข้าวสารถุงของไทยก็กำลังดีดตัวขึ้นเช่นกัน กลายวิกฤตราคาข้าวแพง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงสีข้าวของสหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด หยุดการเดินเครื่องเป็นการ ชั่วคราว โดยจะเริ่มสีข้าวเพียงเฉพาะช่วงที่มีข้าวเปลือกและพร้อมบรรจุถุงให้เฉพาะลูกค้าประจำ 200 กว่าร้านค้าเท่านั้น ไม่สามารถจัดขายให้ลูกค้าขาจรได้ เนื่องจากไม่มีข้าวเปลือกมากพอ
นายประพันธ์ กล่าวว่า ช่วงนี้ที่โรงสีขาดแคลนข้าวเปลือก เนื่องจากสมาชิกเกษตรกรชาวนา จ.อุตรดิตถ์ ระยะนี้มีเพียง อ.พิชัย ที่เก็บเกี่ยว แต่ก็มีผู้ประกอบการโรงสีขนาดใหญ่จากต่างจังหวัดรับซื้อในราคาสูงตันละ กว่า 12,000 บาท เป็นนาทีทองของชาวนา
สหกรณ์ฯ ได้ส่งทีมตระเวนไปตามต่างอำเภอ ต่างจังหวัดเพื่อขอซื้อข้าวเปลือกตามยุ้งฉางที่เกษตรกรเก็บไว้ตามบ้าน ซื้อมาแปรรูปแล้วบรรจุถุงขายทันที ไม่มีสต็อก และแจ้งร้านค้าที่รับซื้อขอปรับราคาข้าวสารบรรจุถุงขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท เพื่อให้อยู่ได้ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้น่าจะไปจนถึงชนฤดูกาลการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี คือประมาณปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567
“ข้าวนาปีไม่มั่นใจด้านผลผลิต เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง สภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ที่น่าจะลดลง เพราะจนถึงขณะนี้พื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ พบว่าปริมาณฝนตกน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการทำนาปี โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน
ส่วนในเขตฯ พยายามให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบนาแปลงใหญ่ จะได้ลดต้นทุน จัดส่ง จนท.ร่วมวางแผนการเพาะปลูกให้ได้ข้าวคุณภาพ จะได้ขายเต็มเม็ดเต็มหน่วย ควบคุมการขยายพื้นที่ปลูก หวั่นผลผลิตจะเสียหายหากน้ำไม่เพียงพอ หลังพบว่านาปรังที่ผ่านมา ผลผลิตลดลงจากไร่ละ 1,200 กิโลกรัมเหลือเพียง 600-800 กิโลกรัม จะทำให้ชาวนาเสียโอกาส เพราะเชื่อว่าราคาข้าวปีนี้จะสูงต่อเนื่อง” นายประพันธ์กล่าว