ค้นหา

ราคายางร่วงหนัก 7 เดือนแรกวูบ 25.1% จากความต้องการทั่วโลกลด

Kresearch
เข้าชม 343 ครั้ง

ราคายางพาราไทยช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ร่วงแรง ยางแผ่นดิบชั้น 3 ร่วง 25.1% จากอุปสงค์โลกลดหนัก  แต่อุปทานอาจลดลงจากเอลนีโญ ทำให้คาดว่าทั้งปี 2566 ลด 16.4%

ราคายางพาราของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 ปรับตัวลดลงแรง ส่งสัญญาณน่าเป็นห่วง สะท้อนผ่านราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ลดลงมาเฉลี่ยที่ 44 บาทต่อกก. หรือลดลง 25.1% สอดคล้องไปกับราคายางแผ่นรมควันในตลาดโลกที่ลดลง 22.7%  ปัจจัยกดดันสำคัญคงมาจากแรงฉุดด้านอุปสงค์โลก โดยเฉพาะจากผู้ซื้อรายใหญ่อย่างจีน ที่เผชิญภาวะเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก คาดในปีนี้ฟื้นตัว แต่ไม่มากนักจากภัยแล้งรุนแรงข้ามปี

พิจารณาจากดัชนี PMI ของจีนที่หดตัวเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกันในเดือนก.ค.2566 รวมถึงตัวเลขสต็อกยางของจีน (เซี่ยงไฮ้) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 174,800 ตันในวันที่ 1 ส.ค.2566 จาก 165,010 ตันในวันที่ 30 ธ.ค.2565 และจีนชะลอคำสั่งซื้อ หลังจากที่จีนและญี่ปุ่นมีคำสั่งซื้อที่เร่งตัวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า (สะสมวัตถุดิบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการผลิตในอุตสาหกรรมยางล้อ และถุงมือยาง)

ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัว กระทบต่อการผลิตรถยนต์ และสต็อกถุงมือยางจำนวนมากของมาเลเซีย กดดันคำสั่งซื้อน้ำยางข้นจากไทย เหล่านี้ล้วนกดดันราคายางพาราไทยให้ปรับลดลงแรง เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงกว่า 24.9%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดว่า ราคายางพาราของไทยอาจปรับลดลงอีกไปเฉลี่ยที่ราว 42 บาทต่อกก.จากที่เฉลี่ย 44 บาทต่อกก.ในช่วง 7 เดือนแรกของปี จากแรงฉุดด้านอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะจีน จะกระทบต่อการผลิตยางล้อและผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ กดดันราคายางพาราต้นน้ำ นอกจากนี้ คงมีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาไม่มากนัก แม้สต็อกสินค้าปลายน้ำในต่างประเทศจะมีไม่มากแล้วก็ตาม (ยกเว้นถุงมือยางธรรมชาติ)

ขณะที่ในฝั่งอุปทานยางพาราไทยอาจลดลงจากเอลนีโญและโรคใบร่วงยางพาราที่ยังมีอยู่ รวมไปถึงในอินโดนีเซียและมาเลเซียที่คงมีผลผลิตยางพาราลดลงเช่นกัน ทำให้ในภาพรวมราคายางพาราในช่วงที่เหลือของปีนี้คงปรับลดลงไม่มากนัก และคาดว่าราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ของไทยทั้งปี 2566 อาจเฉลี่ยอยู่ที่ราว 43.2 บาทต่อกก. หรือลดลง 16.4% นับว่าเป็นระดับราคาที่ย่อลงจากช่วงโควิด (ปี 2563-2565) ที่พุ่งสูงเฉลี่ยที่ 49.5 บาทต่อกก. แต่ยังคงสูงกว่าช่วงก่อนโควิด (ปี 2561-2562) ที่เฉลี่ย 41.0 บาทต่อกก. 

ผลกระทบที่มีต่อธุรกิจในปี 2566 คาดว่า ธุรกิจยางพาราขั้นกลางของไทย (โรงงานแปรรูปยางแผ่น ยางแท่ง) คงเผชิญรายได้ที่ลดลง จากคำสั่งซื้อที่หดหาย เนื่องจากแรงฉุดของอุปสงค์ในจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดกำลังการผลิต ลดการซื้อวัตถุดิบยางพาราขั้นต้น และอาจลดกำลังแรงงาน ผนวกกับในช่วงปลายปีที่ผลผลิตยางพาราคงลดลงจากเอลนีโญ ทำให้มีปริมาณผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการเดินเครื่องจักร จึงทำให้รายได้ในช่วงนี้หายไป ซึ่งภาพเช่นนี้คงมีให้เห็นในช่วงเวลาที่เหลือส่วนใหญ่ของปีนี้ และจะกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการส่งออกยางพาราขั้นต้นของไทยให้เผชิญรายได้ที่ลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกยางพาราทั้งหมดของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ลดลง 23.2% โดยลดลงในทุกรายการ ทั้งยางแผ่น (-24.2%) ยางแท่ง (-15.1%YoY) น้ำยางข้น -32.0% และยางพาราอื่นๆ -69.7% 

ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อส่งออกก็น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะถุงมือยาง เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงอย่างมาก จากโควิดที่คลี่คลายขึ้น และในสหรัฐอเมริกาและยุโรปใช้ถุงมือยางไนไตร ซึ่งเป็นยางสังเคราะห์ทดแทนมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยหดตัวในหลายรายการ เช่น ยางล้อ -18.5% ถุงมือยาง -10.7% ยางรัดของ -1.8% หลอดและท่อ -17.1% ยางที่ใช้ทางเภสัชกรรม -8.1% ยางคอมปาวน์ -4.6% สายพานลำเลียงและส่งกำลัง -27.0%  

สำหรับการผลิตยางพาราต้นน้ำนั้น ราคายางพาราเฉลี่ยในปีนี้ที่ลดลงมาต่ำกว่าต้นทุนรวมของการปลูกยางที่อยู่ที่ราว 63 บาทต่อกก. และใกล้เคียงกับต้นทุนผันแปรเฉลี่ยที่อยู่ที่ประมาณ 42 บาทต่อกก. สะท้อนสถานะทางการเงินของเกษตรกรชาวสวนยางโดยรวมที่ยังยากลำบาก แม้จะมีเงินช่วยเหลือจากโครงการประกันรายได้ยางพารามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนบางส่วนก็ตาม โดยชาวสวนยางที่เดือดร้อนจะเป็นกลุ่มที่ประสบภาวะขาดทุนเรื้อรังและไม่มีช่องทางสร้างรายได้อื่นทดแทน 

ไม่เพียงปัญหาด้านราคายางพาราตกต่ำในปี 2566 เท่านั้น แต่เกษตรกรยังต้องเผชิญปัญหาเดิมที่ยังส่งผลกดดันต่อการทำสวนยางพาราในปัจจุบัน เช่น ผลผลิตต่อไร่ต่ำและปรับลดลง จากราคายางพาราที่ผันผวน จึงไม่จูงใจต่อการบำรุงต้นยางเท่าที่ควรและโรคระบาดยางพารา โดยในช่วงปี 2560-2564 ไทยมีผลผลิตยางพาราเฉลี่ยที่ 233 กก.ต่อไร่ ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามอยู่ที่ 268 กก.ต่อไร่  

ประกอบกับไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ทำให้แข่งขันยาก อีกทั้งเกษตรกรบางส่วนได้โค่นต้นยางและปลูกพืชอื่นทดแทนแล้ว เช่น ปาล์มน้ำมัน และบางส่วนขายสวนยางไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ ผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ ยังใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น กดดันเกษตรกรให้มีต้นทุนในการปรับตัวมากขึ้น  ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในภาวะที่ต้นทุนอื่นๆ ก็สูงอยู่แล้ว จะยิ่งกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรยางพาราต้นน้ำมากขึ้น        


มองต่อไปในปี 2567 คาดว่า ราคายางพาราไทยอาจปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามอุปทานยางที่ตึงตัวขึ้นจากผลกระทบของเอลนีโญที่รุนแรง และแรงหนุนจากอุปสงค์ยางล้อที่มีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ราคายางพาราของไทยคงต้องเผชิญความเสี่ยง ทั้งในประเด็นที่จีนหันไปนำเข้ายางพาราจากกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น รวมถึงประเทศผู้นำเข้าอย่างยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น เช่น มาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) ที่จะไม่ซื้อยางพาราในพื้นที่ป่า

หากต้องการส่งออกจะต้องมีใบรับรองแหล่งที่มาที่ไปของยางพาราอย่างชัดเจน จึงจะสามารถส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ และกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของยุโรป (The EU Deforestation-free Regulation: EUDR)

ปัจจุบันยุโรปกำลังจะประกาศบังคับใช้เป็นกฏหมายภายในปี 2567 ควบคุมในสินค้า 7 กลุ่ม คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เนื้อวัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากไทยไม่สามารถปรับตัวต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของผู้นำเข้าดังกล่าวได้ ก็อาจส่งผลกดดันความต้องการยางพาราจากไทยในระยะข้างหน้า ขณะที่ในฝั่งของเกษตรกรชาวสวนยาง คงต้องเผชิญภาวะการขาดทุนในกรณีที่จะปลูก

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/203943