ค้นหา

เกษตรกรเมืองอุบล เลี้ยงปลานิลครบวงจร พร้อมแปรรูปเพิ่มมูลค่า มีกำไรเพิ่มหลายเท่าตัว

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรสว่างวีระวงศ์
เข้าชม 574 ครั้ง

ผู้เขียน : สุรเดช สดคมขำ

ปลานิล เป็นปลาน้ำจืดที่ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ เพราะปลานิลนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการนำปรุงให้สุก หรือนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าก็ได้กำไรเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จึงทำให้ปลานิลถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคอีสานที่มีการเลี้ยงทั้งในบ่อดินและกระชังในแม่น้ำ

กลุ่มมีความเข้มแข็ง ห้องบรรจุภัณฑ์ได้มาตรฐาน

คุณบังอร สมสุข รองประธานฝ่ายเลี้ยงปลาและผลิต วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรสว่างวีระวงศ์ ได้เห็นถึงช่องทางการสร้างรายได้จากการเลี้ยงปลานิล ทำให้เธอได้ศึกษาการเลี้ยงอย่างจริงจัง และต่อยอดการเลี้ยงแบบมีคุณภาพ ปลานิลที่เลี้ยงมีการทำตลาดหลากหลายตั้งแต่ส่งพ่อค้าแม่ค้า และนำปลาที่เลี้ยงส่งขายให้กับกลุ่มเพื่อทำการแปรรูปเพิ่มมูลค่า

คุณบังอร สมสุข

เลี้ยงปลานิลเป็นอาชีพ สานต่ออาชีพจากคุณพ่อ

คุณบังอร เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่คุณพ่อได้เสียชีวิตมาระยะหนึ่ง ในเวลานั้นได้เรียนปลานิลเป็นอาชีพอยู่ด้วย ซึ่งเธออยู่กับคุณพ่อทำให้ต้องมารับช่วงต่อในการเลี้ยงปลานิล โดยจากเดิมที่ไม่มีความรู้ในเรื่องของการเลี้ยงมากนัก จึงได้ศึกษาจากเพื่อนๆ เกษตรกรท่านอื่นอย่างจริงจัง เมื่อมีความชำนาญมากขึ้น จึงขยับขยายการเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง จนสามารถมีปลาส่งขายได้ตลอดทั้งปี

ปลานิลเลี้ยงในกระชัง

“ช่วงแรกต้องยอมรับเลยว่า กว่าที่จะเลี้ยงประสบผลสำเร็จต้องใช้เวลาอย่างมาก เพราะด้วยความที่เลี้ยงในกระชังในแม่น้ำ และสภาพอากาศและน้ำก็เปลี่ยนแปลงไปมาก จึงทำให้ต้องมีการวางแผนการเลี้ยงให้ดี ซึ่งปลาที่เลี้ยงในแม่น้ำมูลจากที่เคยสอบถามลูกค้ามา เนื้อปลาและรสชาติถือว่าอร่อย เพราะการเลี้ยงน้ำจะไหลผ่านกระชังอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ปลาเหมือนได้ว่ายออกกำลังกายอยู่เสมอ” คุณบังอร บอก

ปลานิลแดดเดียวดิบ

ตัดขั้นตอนการอนุบาล การเลี้ยงใช้เวลาไม่นาน

สำหรับการเลี้ยงปลานิลในกระชังนั้น คุณบังอร เล่าว่า ปลาที่นำมาเลี้ยงทั้งหมดตัดขั้นตอนการอนุบาลออกไป โดยเธอจะซื้อลูกปลาไซซ์ขนาด 1.5 นิ้ว ราคาต่อตัวอยู่ที่ 4-5 บาท มาปล่อยเลี้ยงในกระชัง จากการทำด้วยวิธีนี้ทำให้ไม่ต้องมีต้นทุนในเรื่องค่าอาหารในขั้นตอนของการอนุบาล และสามารถตัดวงจรการเลี้ยงให้สั้นลงได้ นำลูกปลานิลมาปล่อยเลี้ยงในกระชังขนาด 3×6 เมตร ความลึก 2.5 เมตร ใน 1 กระชัง ปล่อยเลี้ยงอยู่ที่ 1,000 ตัว

อาหารที่ใช้เลี้ยงลูกปลานิลจะเป็นอาหารที่มีโปรตีนอยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ ให้กินวันละ 3 เวลา ในช่วงเช้า กลางวัน และเย็น ประมาณ 1 เดือน จากนั้นเปลี่ยนสูตรอาหารที่มีโปรตีนอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้กินวันละ 3 เวลาเช่นเดิมอีกประมาณ 2 เดือน จากนั้นลดช่วงเวลาให้อาหารปลาลง โดยให้กินในช่วงเช้าและเย็นเท่านั้น แต่อาหารที่ให้ในแต่ละมื้อจะมากขึ้นตามขนาดตัวของปลานิลที่ใหญ่ขึ้น

“การเลี้ยงปลาที่ฟาร์ม จะใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 4 เดือน ปลาจะได้ขนาดไซซ์ 800 กิโลกรัม จนถึง 1 กิโลกรัมขึ้นไป ก็ถือว่าการเลี้ยงใช้เวลาไม่นาน ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคของปลา ก็จะขึ้นอยู่กับฤดูกาลเป็นหลักว่าช่วงนั้นสภาพน้ำจะเป็นแบบไหน จะรับมือการป้องกันไว้ ช่วยให้ปลาไม่เกิดการเจ็บป่วย และมีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งการเลี้ยงปลาให้ได้คุณภาพ ต้องมีการจัดการที่ดี มีการวางแผนที่ดี ช่วยให้ปลานิลที่เลี้ยงสามารถมีส่งขายได้ตลอดทั้งปี” คุณบังอร บอก

ปลาร้าปลานิล

ส่งขายทั้งปลาสด พร้อมแปรรูปเพิ่มมูลค่า

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อขายปลานิลที่เลี้ยงในกระชังนั้น คุณบังอร บอกว่า ปลาที่เลี้ยงอยู่ภายในฟาร์มทั้งหมดจะหมุนเวียนกันจับ โดยปลานิล 1,000 ตัวต่อกระชัง ใช้เวลาจับขายให้หมดกระชังจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งราคาขายเป็นราคาตามกลไกตลาด อยู่ที่ประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม โดยแต่ละช่วงปีราคาอาจปรับขึ้นลงได้ ขึ้นอยู่ว่าในปีนั้นความต้องการของตลาดมากน้อยเพียงใด ถึงในบางช่วงการรับซื้อเป็นปลาสดจะลดลงบ้าง แต่ทางฟาร์มไม่มีความกังวัลในเรื่องนี้เพราะได้ทำตลาดแปรรูปไว้รองรับไว้แล้ว

ปลานิลแดดเดียว

คุณสุภาพร คำเมฆ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรสว่างวีระวงศ์ เล่าว่า ในพื้นที่นี้มีการเลี้ยงปลากระชังกันมาอย่างต่อเนื่อง และมีอยู่ช่วงหนึ่งปลาในกระชังได้รับผลกระทบคือราคาตกต่ำ จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มขึ้นเพื่อแปรรูป ซึ่งปลานิลแดดเดียวถือว่าเป็นสินค้าขึ้นชื่อของกลุ่ม เพราะปลานิลแดดเดียวที่แปรรูปนั้น มีลักษณะเป็นเส้นๆ ลูกค้าทุกเพศทุกวัยสามารถกินได้ง่าย เพราะเป็นสินค้าที่อร่อยใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต

ปลานิลแดดเดียว

“ปลานิลแดดเดียวที่ขึ้นชื่อของกลุ่ม ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 350-500 บาท ส่วนราคาส่งที่มีลูกค้ามาซื้อเพื่อไปขายต่อ ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 350 บาท ซึ่งใน 1 เดือนทางกลุ่มเฉลี่ยแล้วจะขายได้อยู่ประมาณ 500 กิโลกรัม นอกจากนี้ ก็ยังมีสินค้าตัวอื่นที่ขายดี อย่างแจ่วบองปลานิล ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 250-300 บาท และปลาส้มหยองก็จะขายดีอีกตัวหนึ่ง ราคาอยู่ที่ขีดละ 40-50 บาท จากการขนส่งที่ทันสมัยในปัจจุบัน ตอนนี้สินค้าของกลุ่มก็สามารถส่งขายได้ทั่วประเทศ ทำให้ลูกค้าที่อยู่ไกลออกไปก็สามารถมาซื้อสินค้าไปกินได้ไม่ยาก” คุณสุภาพร บอก

การบรรจุภัณฑ์ส่งลูกค้า

สำหรับท่านใดที่สนใจสินค้าแปรรูปสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรสว่างวีระวงศ์ ตั้งอยู่เลขที่ 109/1 หมู่ที่ 5 บ้านสุขสมบูรณ์ ตำบลบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี หมายเลขโทรศัพท์ 086-250-5752, 083-069-7175, 086-250-5751

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_256760