ค้นหา

ประชาชนได้อะไร ประเทศชาติได้อะไรจากงานมหกรรมพืชสวนโลก

กรมวิชาการเกษตร
เข้าชม 786 ครั้ง

ข่าวเด่นประเด็นในสุดสัปดาห์นี้ หนีไม่พ้นมหกรรมพืชสวนโลก 2569 จากงบประมาณเดิม 2,500 ล้าน ของอกอีก 3,000 ล้าน เล่นเอานายกเศรษฐา ทวีสิน ไม่เห็นด้วย

เรามาดูที่มาที่ไป ต้นเรื่องของ งานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานี มีที่มาที่ไปอย่างไร และที่สำคัญ ประชาชนจะได้อะไรจากโครงการนี้

โครงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 จะจัดขึ้นที่พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตําบลกุดสระ อําเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พื้นที่รวม 1,030ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นน้ำ 400 ไร่ และพื้นดิน 630 ไร่ เวลาจัดงาน 134 วัน ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570

ชื่องาน Living; ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต: สายสัมพันธ์แห่งผู้คน สายน้ํา และพืชพรรณ สู่การดํารงชีวิต ที่ยั่งยืน”

โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ

-แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทยรวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ํา และสมุนไพร ตลอดจน การแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านพืชสวนในระดับชาติ และระดับนานาชาติ

-ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านธุรกิจด้านการนําเข้า-ส่งออกผลิตผลการเกษตร ธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรมและธุรกิจด้านการบริการด้านต่าง ๆ

-ส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอดการเกษตรด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสร้างพื้นท่ีเศรษฐกิจใหม่ให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุน ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ําโขง (GMS)

-สร้างจังหวัดอุดรธานีให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านการเกษตรของภูมิภาคลุ่มน้ําโขง GMS เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต วิจัย และการต่อยอดสู่ BCG Model (Bio Economy, 1 Circular Economy, Green Economy) เศรษฐกิจชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และระบบ เศรษฐกิจสีเขียว สร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ

การเฉลิมฉลองที่สําคัญของประเทศและจังหวัดอุดรธานี

(1) ในปี พ.ศ. 2569 เป็นปีที่ประชาชนชาวไทยจะมีโอกาสได้ร่วมเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 10 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

(2) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมี พระชนมายุครบ 6 รอบ หรือ 72 พรรษา

(3) เฉลิมฉลองการก่อตั้งจังหวัดอุดรธานี ครบ 134 ปี โดยกรมพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวง ประจักษ์ศิลปาคมพระผู้สถาปนาเมืองอุดรธานี

เป้าหมายของมหกรรมพืชสวนโลก วางไว้น่าสนใจครับ มีจํานวนผู้เข้าชมงาน 3.6 ล้านคน (แบ่งเป็นชาวไทย ร้อยละ 70 และชาวต่างประเทศ ร้อยละ 30) มีประเทศที่เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ / องค์กร / สมาคม ในส่วนของเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจจากการประเมินการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) จะทําให้เกิดรายได้สะพัด 32,000 ล้านบาท มีมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า (GDP) 20,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 81,000 อัตราและรายได้จากการจัดเก็บภาษี 7,700 ล้านบาท

ผู้รับผิดชอบ 3 หน่วยงานหลักคือ กระทรวงมหาดไทย (จังหวัดอุดรธานี) สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมวิชาการเกษตร)

ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร เป็นสมาชิก AIPH ในนามประเทศไทย ตั้งแต่ ปี 2546 ค่าสมาชิกปีละ 1,500 ยูโร การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกมีการจัดต่อเนื่องหมุนเวียนประเทศเจ้าภาพภายในภาคีสมาชิกมีประเทศร่วมเป็นสมาชิก จำนวน 64 ประเทศ

สำหรับการจัดงานพืชสวนโลกจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ และการจัดงานที่อุดรธานีเป็นการจัดในระดับ B คือ International Horticultural Exhibition

งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการออกแบบ Master Plan สําหรับพื้นที่จัดงานเพื่อการประมูลสิทธิ์งาน การจัดทําภูมิทัศน์และโครงสร้าง การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายตามข้อกําหนดของ AIPH

ประเด็นการหารายได้น่าสนใจเช่นกัน เพราะสามารถตั้งมูลนิธิโดยมีคณะกรรมการที่มีความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญด้านการจัดมหกรรม พืชสวนโลก เพื่อมาบริหารจัดการทั้งสิ้น ใช้เงินรายได้จากการขายบัตรการสนับสนุนการจัดงานการให้เช่าพื้นที่ทั้งสิ้น 1,170.73 ล้านบาท เป็นตัวตั้งต้นในบริหารจัดการภายหลังการจัดงาน (รายได้จากการขายบัตร 919.39 ล้านบาท และรายรับจากการสนับสนุนการจัดงานและการให้เช่าพื้นที่ 251.34 ล้านบาท) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จํานวน 181 แห่ง และองค์การ บริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ประมาณ 50 ล้านบาท ที่สำคัญ มูลนิธิสามารถรับเงินบริจาค และมีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ การจําหน่ายบัตรหรือรายได้อื่นได้

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ในมิติทางเศรษฐกิจจะมีรายได้สะพัดกว่า 32,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาในการจัดงาน มูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) กว่า 20,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 81,000 อัตรา มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีกว่า 7,700 ล้านบาท

ในมิติทางสังคมจากการจัดงาน ภาคอีสาน และจังหวัดอุดรธานี ได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติและเป็นเจ้าภาพ การจัดงานยิ่งใหญ่ระดับโลก เป็นการกระชับความสัมพันธ์ประเทศไทยกับนานาชาติโดยเฉพาะกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ําโขง GMS และเครือข่ายด้านองค์ความรู้งานวิจัย ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรม มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับนานาชาติร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อต่อยอดงานวิจัยและการพัฒนาพืชสวนของไทย การจัดการองค์ความรู้ด้านพืชสวนและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในพื้นที่ ให้อนุรักษ์ สงวน รักษา และสร้างสมดุลในพื้นที่ รวมไปถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปอดแห่งใหม่ให้แก่เมืองและภาคอีสานตอนบน

ส่วนประเด็นสำคัญ 3,000 ล้านงอกมาจากไหน

จากการตรวจติดตามของคณะกรรมการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (International ciation of Horticultural Producers : AIPH) ระหว่างวันที่ 15-20 กรกฎาคม 2566 มีข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ คือ งบประมาณที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขออนุมัติกรอบงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 2,500 ล้านบาท ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 งบประมาณที่เหมาะสมที่จะทำให้งานมีความครบถ้วนสมบูรณ์ตามมาตรฐานและศักยภาพที่ดีของประเทศไทย ต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท

หน่วยงานรับผิดชอบหลักอย่างจังหวัดอุดรธานี และ สสปน. ได้ร่วมประชุมหารือกับกรมวิชาการเกษตรมีความเห็นให้ขอขยายกรอบงบประมาณเป็น 5,500 ล้านบาท

คร่าวๆ ตามเอกสารเบื้องต้นประมาณนี้

ส่วนภายในจัดแบบไหนถึงใช้งบอย่างไรและเมื่อจัดเสร็จแล้ว จะใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างไรต่อไปบ้าง

ครั้งหน้าเรื่องเล่าข่าวเกษตรจะมาแบบยาวๆ รวมไปถึง การจัดงานพืชสวนโลกที่นครราชสีมาที่เป็นการจัดใหญ่ที่สุดในระดับ A1 : World Horticultural Exposition ที่ตั้งงบประมาณไว้ 4,280 ล้านบาท จัดงานในปี 2572 วันนี้คืบหน้ากี่เปอร์เซ็นต์

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.agrinewsthai.com/news/86649