ราคายางพาราปรับตัวใกล้แตะ 50 บาท/กก. กระทบโรงงานอุตสาหกรรมผลิต “น้ำยางข้น” มีแนวโน้มปิดตัวเพิ่ม เหตุต้นทุนสูง โรงงานถุงมือยางธรรมชาติซื้อน้อย หันไปใช้ยางสังเคราะห์มากกว่า ด้านปริมาณน้ำยางสดหดหายไปกว่า 50% จากโรคยางใบร่วง ส่งผลให้ยางพาราปรับตัวสูงขึ้น
แหล่งข่าวจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยางพาราปรับตัวดีขึ้นครั้งละ 1-2 บาท/กก. โดยราคาน้ำยางสดขยับจากปลายเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 43-44 บาท/กก. เป็น 47-48 บาท/กก. ยางแผ่นดิบมีการปรับราคาขึ้น บางพื้นที่ขยับจากปลายเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 44 บาท/กก. เป็น 45-47 บาท/กก.
ส่วนยางรมควันขยับจากปลายเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 48 บาท/กก. เป็น 50-51 บาท/กก. สำหรับราคาน้ำยางข้นได้ปรับตัวขึ้นมาจากเดิมที่ 43 บาท/กก. ได้ปรับเป็น 47 บาท/กก. ขึ้นอยู่กับการซื้อขายของแต่ละราย แต่ยังไม่คล่องตัว
เนื่องจากไม่มีน้ำยางสดปั่นเป็นน้ำยางข้น และน้ำยางข้นไม่สามารถส่งขายโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถุงมือยางได้ เนื่องจากตลาดถุงมือยางค่อนข้างจะซบเซา เพราะเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกานิยมใช้ถุงมือยางสังเคราะห์ คือ ยางไนไตรล์ (nitrile rubber) มากกว่าถุงมือยางธรรมชาติ
ขณะที่ปริมาณน้ำยางสดลดน้อยลงกว่า 50% ส่งผลกระทบให้ตอนนี้โรงงานอุตสาหกรรมน้ำยางข้นต่างประสบภาวะขาดทุน โดยโรงงานระดับเอสเอ็มอีหลายแห่งต่างทยอยปิดตัวชั่วคราว หลายรายเดินเครื่องจักรเพียงครึ่งเดียว และบางรายพยามยามเดินเครื่องไปจนถึงสิ้นปี 2566 และมีแนวโน้มว่าจะปิดตัวลงชั่วคราวอีกเช่นกัน
“2 สัปดาห์ก่อนหน้าราคาน้ำยางข้นในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ 980 เหรียญ/ตัน และปรับตัวขึ้นมา 1,080 เหรียญ/ตัน ตามราคายางในตลาดซื้อขายล่วงหน้า แต่ราคาน้ำยางข้นที่เสนอขายสูงขึ้นตลาดไม่ตอบรับกลับเงียบ ไม่มีใครซื้อจึงต้องเสนอขายราคาต่ำ เพราะยางในตลาดเพื่อนบ้านต่างประเทศก็ขายในราคาต่ำ เช่น ทั้งอินโดนีเซีย เมียนมา เวียดนาม”
สำหรับสาเหตุที่น้ำยางสดปริมาณน้อย มาจาก 1.ยางพาราเกิดโรคยางใบร่วงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำยางสดหายไป 50% ประกอบกับไม่สามารถกรีดได้ตามปกติเนื่องจากฝนตกหนัก และส่วนหนึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวทุเรียน มังคุด มีการโค่นยางพาราปลูกทุเรียน
และที่สำคัญตอนนี้สวนยางพาราขาดแคลนแรงงานมาก บางพื้นที่ 100,000 ไร่ ขาดแคลนถึง 70% น้ำยางสดเหลือ 20,000 กก. บางพื้นที่น้ำยางสดกรีดได้ 40,000 กก./วัน เหลือประมาณ 2,000-3,000 กก./วัน
ทางด้าน นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ เกษตรกรกลุ่มทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราส่งออกต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตลาดโลกซื้อขายล่วงหน้ายางพารา ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาระยะหนึ่ง ส่งผลให้ตลาดซื้อขายยางพาราปรับตัวขึ้นตาม
เนื่องจากปริมาณน้ำยางน้อย ทำให้น้ำยางสดบางพื้นที่ขึ้นไปถึง 45 บาท/กก. ยางรมควัน 50-51 บาท/กก. ส่งผลโรงงานอุตสาหกรรมยางพารา ไม่มีสินค้าที่จะเดินเครื่องผลิต และราคาปรับตัวยังไม่ปรับตัวหวือหวาเท่าที่ควร
บางพื้นที่น้ำยางสดเคลื่อนไหวอยู่ที่ 42 บาทเศษ/กก. ก็สามารถทำยางแผ่นดิบแปรรูปเป็นยางรมควันได้ เพราะยางรมควันราคา 50-51 บาท/กก. มีส่วนต่าง 5 บาท/กก. แต่บางพื้นที่ราคาน้ำยางสด ราคา 47 บาท/กก. ไม่สามารถแปรรูปเป็นยางรมควันได้
เพราะส่วนต่างเพียง 3 บาท/กก. ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะการแปรรูปทำยางรมควัน มีค่าแรงงาน ค่าวัตถุดิบอื่น ๆ และค่าบริหารจัดการ 5 บาท/กก. จะขาดทุน 2 บาท/กก.
“ยางพาราที่ไปได้ คือยางรมควัน ยางแท่ง เบอร์ 20 ยางก้อนถ้วย ส่วนน้ำยางข้นชะลอตัวไปเหลือประมาณ 40%”
นายกัมปนาทกล่าวอีกว่า ทิศทางยางพาราแม้ว่าจะปรับตัวขึ้นแต่ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าจะปรับขึ้นอยู่ในระยะยาวหรือว่าระยะสั้น ตอนนี้ทางโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิตสินค้าตามออร์เดอร์เท่านั้น เพราะยังมีความเสี่ยงสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้ง จ.สงขลา จ.พัทลุง ชาวสวนยางพาราต่างเร่งกรีดยางพารา จากที่ปกติกรีด 1 วัน หยุด 1 วัน หรือกรีด 2 วัน หยุด 1 วัน และกรีด 3 วันหยุด 1 วัน ปรากฏว่าชาวสวนยางพาราบางกลุ่มกรีด 5 วัน หยุด 1 วัน โดยให้เหตุผลว่า ในช่วงยางพาราปรับตัวขาขึ้นต้องรีบกรีดให้ถี่ขึ้นเพื่อสร้างรายได้