ค้นหา

‘ไชยา พรหมา’ บินสูง ชู‘เกษตร’ขึ้นชั้นการค้า

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เข้าชม 284 ครั้ง

‘ไชยา พรหมา’ บินสูง ชู‘เกษตร’ขึ้นชั้นการค้า

หมายเหตุ – นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงการดูแล 3 กรม และ 1 รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมหม่อนไหม และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

⦁นโยบายในการขับเคลื่อนกรมปศุสัตว์ ในยุคของรัฐมนตรีช่วยไชยา เป็นอย่างไรบ้าง

กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับพี่น้องเกษตรกร ทั้งเรื่อง หมู เห็ด เป็ด ไก่ วัว และควาย สิ่งที่เป็นปัญหากับเกษตรกรอย่างมากในขณะนี้คือเรื่องราคาและผลกระทบต่อกลไกตลาด การทะลักเข้ามาของสินค้าเกษตรโดยเฉพาะด้านปศุสัตว์ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ทำให้กลไกตลาดผิดเพี้ยน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากมีหน้าที่ในการเลี้ยง ส่วนเรื่องตลาดยังคงต้องพึ่งพากลไกตลาด ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลาง โรงเชือด และแหล่งจำหน่าย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ถ้าเป็นในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่เราไม่ได้ห่วงเขาเท่าไหร่ เพราะมีเครื่องมือการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร อาทิ ส่งเสริมการเลี้ยง โรงชำแหละ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ซึ่งมีเครือข่ายกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคอย่างครบวงจร

ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย สิ่งแรกที่ต้องเจอนี่คือการแบกรับภาระต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัว หรือหมู โดยเฉพาะเรื่องอาหารสัตว์เป็นสิ่งที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกับธุรกิจขนาดใหญ่ หากว่าเกษตรกรจะหาอาหารสัตว์เอง ก็มีข้อจำกัดอย่างหนึ่ง ตรงที่เกษตรกรรายเล็กจะมีการเลี้ยงสัตว์อย่างเดียว ไม่ได้มีการผลิตอาหารสัตว์ด้วย ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงและกรมจะส่งเสริม คือหากในพื้นที่ใกล้เคียงเราสามารถจัดตั้งองค์กรเกษตรกรให้มีการพึ่งพาอาศัยกัน อาทิ รูปแบบวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ เพื่อให้เข้าถึงความต้องการของผู้เลี้ยงว่าในพื้นที่มีสัตว์กี่ชนิด และแต่ละชนิดต้องการอาหารแบบใดบ้าง

ปัจจุบันหากเกษตรกรไม่มีหัวอาหาร อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรต้องไปซื้อหัวอาหารสำเร็จรูปมีต้นทุนสูง กระทรวงจึงมีแผนที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรมีแหล่งวัตถุดิบที่มาจากเกษตรกรในพื้นที่ หรือใช้วิธีการพึ่งพาอาศัยกันเพื่อลดต้นทุน ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผู้เลี้ยงโคเนื้อ และโคนมมีความต้องการมาก แต่ไทยยังผลิตได้น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และต้องมีการนำเข้า เป็นเหตุให้อาหารสัตว์มีราคาที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังนำเข้าอาหารสัตว์ที่เป็นโปรตีน เนื่องจากในประเทศมีผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ และเมื่อตรวจสอบราคาแล้ววัตถุดิบบางชนิดมีราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับราคาในประเทศ จึงเป็นโจทย์สำคัญของกระทรวง ที่หาวิธีส่งเสริมเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนอาหารสัตว์ในราคาที่ถูกกว่าปัจจุบันต่อไป

⦁นอกจากปัญหาเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์แล้ว ปศุสัตว์ยังประสบปัญหาเรื่องใดหรือไม่

นอกจากเรื่องต้นทุนที่ต้องร่วมหาทางออกให้เกษตรกรแล้ว ในส่วนของกรมปศุสัตว์ ยังต้องเจอกับปัญหาเรื่องการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย ในขณะนั้นไทยเผชิญกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) ปรากฏว่า ในช่วงนั้นเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นผลให้ทำลายหมูที่พบเชื้อเอเอสเอฟทันที ในเรื่องของเอเอสเอฟ ปัจจุบันไทยยังไม่มีวัคซีนรักษา ทางเดียวคือเมื่อเจอเชื้อต้องทำลายทิ้งอย่างเดียว ส่งผลให้ความต้องการหมู สวนทางกับปริมาณหมูที่มีในช่วงก่อนหน้านี้ พบว่ามีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำลายทิ้งกว่า 161 ตู้

ในส่วนของแนวทางแก้ไข ปัจจุบันเรามีด่านกักกันปศุสัตว์อยู่ตามบริเวณชายแดนทั่วประเทศ เรื่องนี้ได้ไปพูดคุยกับทางการลาวเชิญชวนมาร่วมมือกัน ทำศูนย์กักกันโรค บริเวณชายแดนก่อนส่งไปที่จีน เรื่องนี้ได้ฝากการบ้านนายกรัฐมนตรี ที่มีแพลนเดินทางไปยังจีน โดยนำเรื่องนี้ไปหารือกับทางการจีน เพื่อให้กลับมาเป็นตลาดกระจายสินค้าทางการเกษตรให้ไทยอีกครั้ง นอกจากนี้ ในส่วนของด่านกักกันปศุสัตว์ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีไว้เพื่อสกัดการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย อาทิ บริเวณ อ.แม่สอด พบว่ามีการลักลอบวัวจากประเทศเมียนมาเข้ามา ต้นทางมาจากประเทศอินเดีย พบว่าการลักลอบนำเข้าสัตว์เหล่านี้นำพาโรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์เข้ามาด้วย วิธีการจัดการของเราคือ การหาแนวทางในการรักษา

โดยเรื่องนี้โรงงานผลิตวัคซีนกรมปศุสัตว์ สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ผลิตวัคซีนรักษาโรคดังกล่าวอยู่แล้ว แต่เนื่องด้วยโรงงานมีการก่อตั้งมากว่า 90 ปีแล้ว แม้อุปกรณ์ และเครื่องมือในการผลิตจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต เพื่อนำไปสู่การได้รับมาตรฐาน เนื่องจากข้อจำกัดของตัวโรงงาน ต้องมีการขยายอาคาร เพิ่มเครื่องมือ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และยังมีความจำเป็นที่ต้องผลิตวัคซีนให้เพียงพอ โดยเป้าหมายต่อไป อยากให้เพิ่มการผลิตวัคซีน เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนของการจำหน่ายได้ ไม่ใช่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศเพียงอย่างเดียว

⦁หลังจากนี้มีเป้าหมายในการผลักดันเรื่องการผลิตวัคซีนปศุสัตว์อย่างไรบ้าง

จากข้อจำกัดดังกล่าวได้ให้นโยบายกับกรมปศุสัตว์ในการจ้างที่ปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ศึกษาความเป็นไปได้ ช่วยวิเคราะห์เรื่องความคุ้มค่า ในการดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าว อาทิ การหารูปแบบในการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน หรือกำหนดระยะเวลาสัมปทานให้กับภาคเอกชน มีเงื่อนไขว่ารัฐจะต้องได้ประโยชน์ เป็นต้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปของผลการศึกษาภายใน 3-4 เดือนนี้ ก่อนจัดทำร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) ที่เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ต่อไป ในส่วนของการศึกษาและพัฒนาโรงงาน กรมปศุสัตว์จะนำงบจากกองทุนของกรม มาใช้ประมาณ 800 ล้านบาท เป็นคนละส่วนกับเงินงบประมาณประจำปี สำหรับเป้าหมายของการให้ศึกษาดังกล่าว เพื่อช่วยลดภาระงบประมาณแผ่นดิน ตอบโจทย์ว่าไทยต้องมีแหล่งผลิตวัคซีนที่เพียงพอ ทั้งวัว หมู และสัตว์ปีก จนนำไปสู่การขายให้กับประเทศต่างๆ โดยมีเป้าหมายการเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) เรื่องวัคซีนรักษาโรคในสัตว์ ของภูมิภาคนี้

ในเมื่อเราไม่สามารถขจัดการลักลอบได้ 100% ก็ผลิตวัคซีนขายประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการลดการเกิดโรคแทน เนื่องจากเรื่องโรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์ เป็นข้อต้องห้ามของประเทศใหญ่อย่างจีน เป็นผลให้สินค้าปศุสัตว์หลายชนิดของไทย อาทิ วัวเป็น ถูกจีนห้ามนำเข้า หลังจากนี้ ผมจะใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนเพื่อขอเข้าพบทูตจีน ในฐานะที่จีนเป็นตลาดการค้าสินค้าขนาดใหญ่ของไทย และแสดงในเห็นว่า รัฐบาลไทย โดยกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสนใจกับเรื่องการเกิดโรคระบาดในสัตว์ โดยจะจัดทำมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้ตลาดเนื้อสัตว์ที่จะส่งไปที่จีน ปลอดโรค และปลอดภัย เงื่อนไขใดที่ยังเป็นอุปสรรคก็จะแจ้งให้ทางการจีนทราบ และปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ มีแผนเรื่องการจัดทำที่กักโรคถาวรตามชายแดน ที่ อ.เชียงแสน และอ.บางสะพาน เพื่อตรวจสอบโรคก่อนการส่งออก

นอกจากจีนแล้ว เรายังส่งออกโคเนื้อ และหมู ไปยังตลาดกัมพูชา แต่ปัจจุบันยังโดนกีดกันอยู่ ดังนั้น จะใช้ช่องทางการทูตขอพบทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยเพื่อหารือถึงอุปสรรค และเล่าถึงแผนที่ไทยต้องการไปเปิดตลาด จะเน้นที่ตลาดการค้าชายแดน จ.สุรินทร์ บริเวณตลาดช่องจอม เป็นตลาดเดิมในการค้าขายสินค้าปศุสัตว์ระหว่างกัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดหลักอยู่แล้ว เนื่องจากส่วนใหญ่จีนและเวียดนามจะซื้อหมูและวัวไทยจากกัมพูชา ไม่ซื้อจากไทยโดยตรงเพราะกลัวเรื่องโรคปากเท้าเปื่อย ปัญหานี้เราจะต้องไปดูว่านอกจากเรื่องโรคในสัตว์แล้ว ยังมีปัญหาอื่นอีกหรือไม่ โดยจะขอความร่วมมือจากทูตพาณิชย์กัมพูชา เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข และลดเงื่อนไข สร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้า เพื่อนำไปสู่การส่งออกต่อไป

⦁ในส่วนของการมอบนโยบายกรมฝนหลวงฯ มีข้อสั่งการอะไรเป็นพิเศษบ้าง เนื่องจากเป็นหน่วยงานสำคัญในการรับมือเอลนิโญ

ก่อนหน้านี้ได้มีการรายงานเรื่องสถานการณ์เอลนิโญที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อสิ้นสุดฤดูให้นายกรัฐมนตรี รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนายกฯ มีข้อสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเอลนิโญ คณะกรรมการชุดดังกล่าว ไม่มีกรมฝนหลวงฯ รวมอยู่ในนั้น มีเพียงกรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ปัจจุบันได้เสนอต่อ นายกฯ ในฐานะผู้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาในการนำ กรมฝนหลวงฯ ที่เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนภารกิจนี้โดยเฉพาะ เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดนี้ด้วย เรื่องนี้ต้องรอให้ นายกฯ เป็นผู้พิจารณาต่อไป

จากข้อเสนอดังกล่าว อยากสะท้อนให้เห็นว่ากรมชลประทานมีหน้าที่สร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ แต่กรมฝนหลวงฯ เป็นหน่วยงานที่ช่วยให้เกิดฝนบริเวณเหนือเขื่อน หรือในจุดที่ต้องการความช่วยเหลือ อุปสรรคของกรมฝนหลวงฯตอนนี้คือ เรายังขาดอุปกรณ์ โดยเฉพาะเครื่องบินในการปฏิบัติการ เนื่องจากปัจจุบันกรมฝนหลวงฯ มีเครื่องบินทั้งหมด 31 ลำ ใช้งานได้ 26 ลำ ส่วนที่เหลือซ่อมบำรุง และในจำนวนทั้งหมดเป็นเครื่องบินคาซ่า หรือเครื่องบินที่ทำความสูงได้ไม่เกิน 1 หมื่นฟุต เพื่อทำฝนหลวงในระดับเมฆอุ่น แต่หากต้องการทำฝนหลวงในระดับเมฆเย็น ต้องเป็นเครื่องบินที่ทำความสูงได้ 2.5 หมื่นฟุต หรือเครื่องบินคิงส์แอร์ กรมมีอยู่ 3 ลำจากเครื่องบินทั้งหมด และใช้งานได้เพียง 1 ลำ ที่เหลือซ่อมบำรุง

ก่อนหน้านี้ กรมได้เสนอขอซื้อเครื่องบิน 2 ลำ เป็นคาซ่า 1 ลำ และคิงส์แอร์ 1 ลำ กับรัฐบาลชุดก่อน เบื้องต้นได้รับการอนุมัติไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดูรายละเอียดเรื่องทีโออาร์ ต้องไม่ล็อกสเปก โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรม เครื่องบินคิงส์แอร์มีความสำคัญมาก เพราะสามารถสร้างฝนได้มากกว่าเครื่องบินคาซ่า ถึง 3 เท่า ดังนั้น การเสนอขอซื้อเครื่องบินของกรมฝนหลวงฯ มีความจำเป็น เนื่องจากมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มยุทธปัจจัย มาสู้กับศัตรู คือความแห้งแล้ง และความยากจน จึงมองว่าจำนวนที่เหมาะสมของเครื่องบินคิงส์แอร์ควรเพิ่มอีก 4 ลำ เพื่อให้คุ้มต่อต้นทุน และเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน

ขณะที่แผนการรับมือเอลนิโญนั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้กรม ทำปฏิบัติการฝนหลวงบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากมีปริมาณน้ำในอ่างเพียง 27% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 10% ซึ่งกรมจะต้องรายงานให้ผมรับทราบว่าแต่ละวันมีน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักฯ เท่าไหร่ จนกว่าจะเพียงพอเพื่อกักเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ ได้มีการมอนิเตอร์ร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อดูว่าเขื่อนไหนในประเทศที่มีน้ำมาก น้ำน้อย หรือแห้งแล้ง โดยเฉพาะภาคกลาง ยังมีอีกหลายเขื่อนที่ต้องเร่งเติมน้ำ ได้สั่งการไปยังกรมฝนหลวงฯ แล้ว

⦁แผนในการพัฒนากรมหม่อนไหมให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ของไทย มีเรื่องอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง

ในส่วนของกรมหม่อนไหม เป็นอีกกรมที่คนมองข้าม แต่ในมุมมองของผมมองว่ากรมนี้มีความน่าสนใจ ก่อนหน้านี้มีโอกาสไปตรวจงานที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เป็นกลุ่มทอผ้าไหมบ้านตอกแคที่มีการทอผ้าไหมชนิดเดียวกับที่มีการใช้ในรั้วในวัง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเห็นผ้าดังกล่าว จึงได้ทรงนำต้นแบบมาให้กรมหม่อนไหมอนุรักษ์ลายและรักษาต้นแบบเอาไว้ โดยกรมหม่อนไหมนำต้นแบบไปให้กลุ่มทอผ้านำไปทอ กว่าจะสำเร็จใช้เวลาเป็นปี มีมูลค่ากว่า 3 แสนบาท สมกับความตั้งใจ และความสวยงาม

แต่ปัญหาอุปสรรคในปัจจุบัน คือชาวบ้านยังต้องซื้อไหมมาทอ เราจึงต้องมีการช่วยเหลือตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เริ่มจากการสนับสนุนให้เลี้ยงหม่อนไหมเอง พื้นที่ไหนที่มีความพร้อม กรมจะเข้าไปสนับสนุนทันที เพื่อเป็นแผนในการผลักดันกรมหม่อนไหม ให้สร้างผ้าไทยที่เป็นอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ โจทย์คือผ้าไหมใส่ต้องไม่แก่ ไม่ร้อน และดูแลรักษาง่าย เพื่อไปสู่เป้าหมายการผลักดันให้ผ้าไหมไทยเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” และได้ขึ้นแสดงในงานแฟชั่นระดับโลก หลังจากนี้หวังว่าจะมีดีไซเนอร์รุ่นใหม่ มาช่วยกันพรีเซ็นต์ผ้าไหม และผ้าไทยทุกชนิดให้ออกสู่สายตาโลก และมีการอนุรักษ์สานต่อผ้าไหมไทยจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป

⦁จะมีการปรับลุค อ.ส.ค.ให้สู้กับตลาดนมในประเทศอย่างไร

สิ่งที่อยากเห็นจาก อ.ส.ค. คือการแข่งขันในเชิงพาณิชย์ ไปจนถึงการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องคิดให้ไกล และเปลี่ยนจากการแข่งขันในตลาดนมโรงเรียน มารับจ้างผลิตเพื่อเพิ่มความต้องการนมจากเกษตรกรให้มากขึ้นดีกว่า ส่วนการประมูลนมโรงเรียน ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดทำไป ส่วน อ.ส.ค.เดินหน้าจับมือกับบริษัทใหญ่ หรือแบรนด์ดังต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อดันผลประกอบการให้เพิ่มขึ้น และดันให้เป็นบริษัทมหาชน ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็จะยิ่งตรวจสอบทางการเงินได้ง่ายยิ่งขึ้น

รวมถึงการผลิตนมเกรดพรีเมียมเพื่อนำไปวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือขยายเป็นแฟรนไชส์ ควรเลิกเป็นรัฐวิสาหกิจแบบเก่าๆ ต้องมีการรีแบรนด์ โดยการจัดตั้งบริษัทลูกของ อ.ส.ค. เพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำแผนการตลาด เพื่อสู้กับแบรนด์ต่างๆ ส่วนในเรื่องของการร่วมทุนหรือการระดมทุนจากภาคเอกชน มองว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพองค์กรในการที่จะต่อยอดธุรกิจให้มากขึ้น อย่าปฏิเสธเอกชน เพราะเอกชนมีความคิดนอกกรอบ แต่เราต้องวางกติกาการทำการค้าร่วมกันให้ดี เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน เป็นไปตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจดูแลตัวเองได้ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นหนึ่งในแผนงานที่จะนำไปหารือร่วมกับผู้บริหาร อ.ส.ค. ในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ ต่อไป

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.matichon.co.th/politics/news_4215120