ค้นหา

กรมวิชาการเกษตร และ บก.ปคบ. บุกจับสารปราบวัชพืช “พาราควอต” ที่กาญจนบุรี

กรมวิชาการเกษตร
เข้าชม 282 ครั้ง

กรมวิชาการเกษตร และ บก.ปคบ. สนธิกำลังเข้าจับกุมร้านค้าในกาญจนบุรีที่ลอบจำหน่ายสาร “พาราควอต” โดยดำเนินคดีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย อันเป็นนโยบาย “รมว.เกษตรฯ” ที่มุ่งปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายอย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน มุ่งปราบปรามสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการปกป้องผู้บริโภค และเกษตรกร พร้อมกับสั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปปฏิบัติทำทันทีให้เห็นผลภายใน 100 วัน เพื่อเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงการเข้มงวดการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร พร้อมดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

โดยเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้ นายเสกสรรค์ วรรณกรี ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร พร้อมเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรไซเบอร์ บุกจับวัตถุอันตรายผิดกฎหมาย โดยการจับกุมดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เจ้าหน้าที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)

พ.ต.ท.พงษ์พนา กรีฑา สว.กก.2 บก.ปคบ. พร้อมชุดปฏิบัติการที่ 4 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ได้นำหมายค้นหมายค้นศาลจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 924/2566 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2566 เข้าตรวจค้นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี พบมีการจำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย จำนวน 3 รายการ ดังนี้ 

การตรวจค้นพบวัตถุอันตราย ดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์สารกำจัดวัชพืช ชื่อทางการค้า พาราควอต ชื่อสามัญ พาราควอตไดคลอไรด์ ชนิดน้ำ ถูกแบ่งบรรจุในภาชนะแกลลอนพลาสติกสีขาวขุ่น ฝาสีน้ำตาล ปิดทับด้วยฉลากสีน้ำเงินระบุปริมาณสุทธิตามฉลาก 5 ลิตร ระบุประโยชน์ “ใช้หลังวัชพืชงอกฯ” ไม่พบเลขทะเบียนวัตถุอันตราย ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องสงสัยว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จำนวน 4 แกลลอน

2. ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ฉลากภาษาอังกฤษ ระบุชื่อ POWER TWO 2 insecticide ถูกแบ่งบรรจุในซองพลาสติกสีเขียว ระบุขนาดบรรจุบนฉลาก 100 กรัม ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องสงสัยว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จำนวน 124 ซอง

3. ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ไม่มีข้อความกำกับบนฉลาก ถูกแบ่งบรรจุในซองตะกั่วสีเงิน ขนาด 100 กรัม ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จำนวน 9 ซอง

เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร ได้เก็บตัวอย่างรายการสิ่งของที่ตรวจยึด เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดตัวอย่างนำส่งพนักงานสอบสวน บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยเบื้องต้นพบประเด็นความผิดมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ไม่มีทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ประเภทวัตถุอันตรายทางการเกษตร เช่น สารป้องกันกำจัดโรค แมลง และวัชพืช การเลือกซื้อมีความสำคัญ เกษตรกรต้องซื้อสินค้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร จากร้านที่ได้รับอนุญาตจำหน่าย หรือร้านที่ได้ใบรับรอง Q-shop ก่อนเลือกซื้อต้องอ่านฉลาก ประโยชน์ วิธีใช้ วันที่ผลิตไม่เกิน 2 ปี ภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพดี ไม่เก่า หรือเสื่อมสภาพ ซื้อในปริมาณที่พอเหมาะกับการใช้ ไม่เป็นสารต้องห้ามนำเข้า ห้ามผลิต หรือจำหน่าย

โดย รมว.เกษตรฯ ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรปราบปรามพวกมิจฉาชีพที่ผลิต และขายปัจจัยการผลิตปลอมทั้งปุ๋ย วัตถุอันตราย หลอกขายเกษตรกร โดยมอบเป็นนโยบายเร่งด่วนให้ดำเนินการทันที เพื่อไม่ให้เกษตรกรโดนเอาเปรียบ พร้อมกับสั่งการให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด หากเกษตรกร หรือผู้ที่ทราบเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวขอให้แจ้งได้ที่สายด่วน 1174 เพื่อจะได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรเข้าไปดำเนินการตรวจสอบต่อไป.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-policy/2730585