ค้นหา

นโยบายรัฐ : ตัวชี้วัดความอยู่รอดของอุตสาหกรรมหมูไทย

ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เข้าชม 361 ครั้ง

ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา ราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง หากแต่ต้นทุนการผลิตหมูขุนของไทยยังคงทรงตัวในระดับสูงตั้งแต่ต้นปี มาปรับตัวลดลงในช่วงเดือนพฤษภาคม (ภาพที่ 1) อันเนื่องจากราคาวัตถุดิบพืชอาหารสัตว์อ่อนตัว แต่สิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยต้องแบกรับคือต้นทุนอาหารสัตว์ที่ยังคงตัว แม้จะปรับตัวลดลงมาบ้างในช่วงหลังแต่ก็ไม่มากนัก

หากมาดูสัดส่วนต้นทุนการผลิตสุกรขุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเดือนสิงหาคม พบว่า ต้นทุนทั้งหมดประมาณ 8,300 บาท เป็นต้นทุนค่าอาหารสูงถึง 4,000 บาท คิดเป็น 47.5% ของต้นทุนทั้งหมด โดยมีต้นทุนลูกสุกรซื้อเข้าประมาณ 2,500 บาท/ตัว คิดเป็น 30% ของซึ่งสูงกว่าราคาลูกสุกรอ้างอิง (ภาพที่ 1 และภาพที่ 2)

แม้ว่าราคาแนะนำตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเฉลี่ยเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 68.15 บาท/กก. แต่จากที่ผู้เขียนสำรวจพบว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยขายได้เพียง 55 บาท/กก. หากขายที่น้ำหนัก 100 กก. เท่ากับว่าขาดทุน 2,500 บาท/ตัว !!! สถานการณ์นี้เรียกได้ว่า ฝังทั้งเป็น

ภาพที่ 1 ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มมีชีวิต ต้นทุนการผลิต และราคาลูกสุกรอ้างอิง เดือนมกราคม-กันยายน 2566
ภาพที่ 2 ต้นทุนการผลิตสุกรขุนของเกษตรกรรายย่อย กรณีซื้อลูกสุกรมาขุน เดือนสิงหาคม 2566

ปัจจุบันสภาวะการค้าสุกรขุนหน้าฟาร์มจะทรงตัว แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งรายย่อย รายเล็ก รายกลาง ยังไม่เห็นทางรอด แม้ว่าปัจจุบันราคาซื้อลูกสุกรเข้าจะปรับตัวลดลงมาที่ 1,400 บาท สะท้อนอุปทานการผลิตหมูของไทยกลับมาแล้ว แต่การขาดทุนสะสมมาตั้งแต่ต้นปี ทุกฟาร์มถูกแรงกดดันของกระแสเงินสดที่ตึงมือ ชักหน้าไม่ถึงหลัง

หลังจากได้ รมว. และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ สมาคมและชมรมคนเลี้ยงหมูต่าง ๆ ได้พยายามเสนอแนวทางการแก้ปัญหาราคาสุกรตกต่ำเพื่อนำสู่การพิจารณาแก้ปัญหาราคาหมูตกต่ำ ผ่านคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) แต่เท่าที่เห็นแนวทางแล้วในมุมของผู้เขียนเห็นว่า อนาคตหมูไทยเหนื่อย
แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรกรลดราคาน้ำมันดีเซลและไฟฟ้า หากแต่ต้นทุนค่าพลังงานของการผลิตหมูคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.9% ของต้นทุนทั้งหมด เรียกได้ว่า เกาไม่ถูกจุด แก้ไม่ถูกที่ ใช้งบประมาณสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

หากรัฐบาลยังคงปิดตาไม่รับรู้ถึงปัญหาโครงสร้างต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่บิดเบี้ยว อนาคตของผู้เลี้ยงหมูรายย่อย รายเล็ก รายกลาง คงเหลือแค่ชื่อ

แนวโน้มสถานการณ์ราคาธัญพืชอาหาสัตว์ทั่วโลกยังหาทางลงไม่เจอ ไม่ต้องคิดว่าราคาต้นทุนอาหารสัตว์ไทยจะลดลง เพราะไทยยังคงต้องนำเข้าพืชอาหารสัตว์แทบทุกชนิดตั้งแต่ กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ขณะที่ข้าวและมันสำปะหลังของไทยไม่ต้องหวัง ราคาคงตัวในระดับสูงจนได้แต่มอง เนื่องจากภาวะภัยแล้งจากเอลนีโญกระทบพื้นที่เกษตรไทยและทั่วโลก

กระทรวงพาณิชย์ต้องร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลธัญพืชอาหารสัตว์ที่เราผลิตได้ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นธัญพืชอาหารสัตว์ที่ใช้ในอาหารสัตว์เป็นหลัก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทบจะเป็นตัวเดียวที่รัฐสามารถบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานได้ ต่างจากข้าวเจ้าและมันสำปะหลังที่มีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเยอะ รวมถึงปริมาณความต้องการจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสองปีนี้ แนวโน้มราคาข้าวและมันสำปะหลังที่รับซื้อจากเกษตรกรอิงความต้องการของตลาดโลกเป็นหลัก

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ผ่านมาท่าน รมว.พาณิชย์ประกาศนโยบาย “บริหารให้เกิดความสมดุล” และนโยบาย “ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” เน้นการรดน้ำที่ราก ดูแลคนตัวเล็ก ผู้เขียนขอเสนอให้ท่านเริ่มต้นที่ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” เป็นสินค้านำร่องในการบริหารจัดการโซ่อุปทานเพื่อแก้ปัญหาราคาต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ของไทยที่ยั่งยืน แม้ว่าท่านอยากจะให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 199,851 ครัวเรือนอยู่ได้ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2566) แต่ต้องไม่ลืมผู้ใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไม่ว่าจะเป็นหมู เป็ด หรือไก่ อีกจำนวน 3,441,041 รายก็ต้องอยู่ได้ด้วย

ด้านนโยบายของท่าน รมว.เกษตรฯที่ประกาศว่า “ในยุคสมัยผมการแต่งตั้งโยกย้ายต้องขาวสะอาด ผมไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหม” ผู้เขียนอยากเห็นผลการสอบสวนผู้กระทำผิดกรณีหมูเถื่อนโดยเร็ว ลำพังเพียงแค่การทำลายหมูเถื่อนแค่ 161 ตู้คอนเทนเนอร์คงไม่พอ เพราะปัจจุบันน่าจะมีหมูเถื่อนค้างอยู่ในระบบอยู่ไม่น้อย มิเช่นนั้นราคาหมูหน้าฟาร์มคงไม่ลงมามากจนถึงวันนี้

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูได้พยายามสู้มาจนวันนี้อาการอยู่ในขั้นวิกฤต จะเรียก “โคม่า” แต่ก็ยังมีหวังว่า ท่าน รมว. รมช.ทั้งสองกระทรวงจะเป็นหัวหอกดำเนินนโยบายตามที่ได้ประกาศไว้อย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้สถานการณ์ผู้เลี้ยงหมูหลังจากนี้ดีขึ้น มิเช่นนั้นอนาคตอุตสาหกรรมหมูไทยคงเหลือเพียงรายใหญ่ แต่ไร้เงาของรายย่อย รายเล็ก หรือแม้แต่รายกลางก็มิอาจอยู่ได้ในอนาคต

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.prachachat.net/economy/news-1407855