ค้นหา

ฤดูแล้ง มาแล้ว เกษตรฯ สั่งลดผลกระทบในภาคการเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เข้าชม 434 ครั้ง

กระทรวงเกษตรฯ สั่งทุกหน่วยงานรับมือฤดูแล้ง สภาพอากาศแปรปรวน เอลนีโญ ฝุ่น PM 2.5ที่เกิดจากภาคการเกษตร ชี้น้ำมีพอทำนาปรัง แต่ต้องใช้อย่างประหยัด

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ว่า หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ต้องเตรียมแผนการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรจากผลกระทบของสภาพอากาศแปรปรวน เกิดเอลนีโญ และมีน้ำฝนสำรองพอใช้ รวมถึงเตรียมการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ (PM 2.5) ที่เกิดจากภาคการเกษตร 

ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ พบว่ามีการกักเก็บน้ำเกินเกณฑ์ความจุ 8 แห่ง (เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา อ่างเก็บน้ำแม่มอก เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป้าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล) และมีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง (เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนคลองสียัด เขื่อนปราณบุรี) (ข้อมูลจากกรมชลประทาน ณ 24 ตุลาคม 2566) ซึ่งภาพรวมมีน้ำเพียงพอ เกษตรกรสามารถปลูกข้าวนาปรังได้ แต่ต้องมีการใช้น้ำอย่างประหยัด

รวมถึงที่ประชุมมีการรับทราบสถานการณ์อุทกภัย ปี 2566 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 56 จังหวัด โดยกลับมาเป็นพื้นที่ปกติแล้ว 41 จังหวัด และยังคงประสบอุทกภัย 15 จังหวัด (หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ ชัยนาท อ่างทอง อุทัยธานี สุพรรณบุรี และนครปฐม)

โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านการเกษตร (พืช ประมง และปศุสัตว์) มีการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ได้แก่ สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 129 เครื่อง / Hydro Flow 9 เครื่อง / เครื่องผลักดันน้ำ 37 เครื่อง / เครื่องจักรอื่น ๆ 7 เครื่อง / กระสอบทราย 9,250 กระสอบ และช่วยอพยพสัตว์ 76,522 ตัว สนับสนุนหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 390.02 ตัน ถุงยังชีพสัตว์ 825 ชุด รักษาสัตว์ 665 ตัว ส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 5,763 ชุด สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ 100 ซอง ต้นกล้า 8,000 ต้น และอื่น ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทักภัย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา (ร่าง) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางดำเนินงานป้องกัน และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านการเกษตรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ และมีเป้าหมายในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรอย่างรวดเร็ว รวมถึงลดความเสี่ยงจากภัยแล้งและอุทกภัยได้ 

พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2566/67 เพื่อรณรงค์สร้างการรับรู้ และความตระหนักให้เกษตรกรทราบถึงผลกระทบจากการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช ซึ่งส่งผลให้เกิดมลภาวะฝุ่นทางอากาศ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้จัดทำ (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออกขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ภาคการเกษตร

โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาคการเกษตร ให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อไป

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1095427