สตูล โค่นสวนยางพารา ทำโรงเรือนปลูกเมล่อน หวานหอมอร่อย อุดมด้วยสารอาหาร ทำเงิน สร้างรายได้ดีเกินคาด พลิกชีวิตชาวสวนผู้มีรายได้น้อย สู่เกษตรกรตัวอย่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ จันทรักษ์ เกษตรกรชาวสวนยางพารา ตัดสินใจโค่นยางพารา เพื่อใช้พื้นที่มาทำโรงเรือนปลูกผัก ทำไปทำมาได้ผลดีเกินคาด พลิกชีวิตจากเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย สู่เกษตรกรตัวอย่าง
จากการปลูกผักส่งห้างสรรพสินค้า ต่อมาได้รับงบประมาณจากเกษตร อ.ควนกาหลง ในการทำโรงเรือนปลูกเมล่อน จึงได้ศึกษาการปลูกเมล่อนถึง 3 รอบ เพื่อคัดสายพันธุ์ โดยทดลองปลูกเมล่อน 4 สายพันธุ์ คือ แสนหวาน หยกขาว เรนโบว์สวิท และไข่ทองคำ กระทั่งประสบผลสำเร็จ ลงตัว 2 สายพันธุ์ แต่ละรอบใช้เวลา 75 วัน มีรายได้รอบละ 4 หมื่นบาท ถือเป็นรายได้ที่ดีกว่าการปลูกยางพารา
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากการลองผิดลองถูกอยู่ 3 รอบ ทำให้ได้สายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว 2 สายพันธุ์คือ แสนหวานและไข่ทองคำ โดย แสนหวาน เนื้อสีส้ม หวานหอมนุ่ม ส่วนไข่ทองคำเป็นเมล่อนสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมลักษณะผิวสีทองสวย เนื้อสีส้มรสชาติหวานอร่อยและมีกลิ่นหอม เวลาเคี้ยวในปากจะเหมือนเคี้ยวสาลี่ ต้านทานโรคได้ดี ทนกับสภาพอากาศ อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง อุดมด้วยวิตามินหลายชนิด มีไขมันและแคลอรี่ต่ำ ไม่มีคอเลสเตอรอล ถือเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ
“เมล่อนแสนหวานและไข่ทองคำ ขนาดลูกไม่โตมากอยู่ที่ 2-2.5 กก./ 1 ผลขายราคาก.ก.ละ 100 บาท เป็นแมล่อนปลอดสารที่ผู้บริโภคบริโภคได้อย่างปลอดภัย ส่วนตลาดนั้นเป็นตลาดทั่วไปและตามโรงพยาบาลโดยในรอบนี้ได้ผลผลิต 4 หมื่นบาทรอบต่อไปผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงวาเลนไทน์ปี67 ซึ่งคาดว่าจะมียอดจองเพิ่มมากขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว
น.ส.จริยาภรณ์ อังสะปราบ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่าสำนักงานเกษตรอ.ควนกาหลง ได้สนับสนุนเชื้อราไตรโคโดม่า ป้องกันกำจัดโรค ซึ่งเมล่อนศัตรูที่สำคัญคือเชื้อรา ต้องดูแลเรื่องเชื้อราตั้งแต่การเตรียมดิน ปลูก หลังปลูกรวมทั้งก่อนเก็บควรงดให้น้ำเพื่อให้เมล่อนมีความหวาน
ด้าน นายธารสวาท พิมเสน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ เกษตรอ.ควนกาหลง กล่าวว่า สวนผักตาหวานแห่งนี้ได้ทำการทดลองปลูกเมล่อนเพื่อคัดสายพันธุ์ ขณะนี้ได้สายพันธุ์ที่คัดเรียบร้อยแล้วคือพันธุ์แสนหวานและไข่ทองคำ เพราะมีความต้านทานโรคสูงเหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา รสชาติหอมกรอบอร่อย
สวนแห่งนี้ได้มาตรฐานความปลอดภัย หากผู้ใดสนใจ สามารถมาศึกษาวิธีการปลูกสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 080-036-8055 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเฟซบุ๊ก : สวนผักตาหวาน