“ธ.ก.ส.” เปิดตัวโครงการชำระดีมีโชค หวังกระตุ้น-จูงใจลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชำระหนี้ ชูชำระดอกเบี้ยสะสมครบทุก 1 พันบาท รับสิทธิ์จับรางวัลพิเศษ และลุ้นโชค 2 ชั้น จำนวน 48,119 รางวัล มูลค่ารวมกว่า 479 ล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นและจูงใจให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการชำระหนี้จากเดิมที่มาชำระหนี้ในช่วงใกล้ถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาเงินกู้ ให้มาชำระหนี้เป็นรายวัน รายเดือน รายไตรมาส หรือในช่วงที่ลูกค้ามีรายได้อื่นเข้ามาเป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ธ.ก.ส. จึงจัดโครงการชำระดีมีโชค ให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้ดอกเบี้ยสะสมครบทุก ๆ 1,000 บาท รับสิทธิ์จับรางวัลพิเศษ ได้แก่ รถยนต์กระบะ รถจักรยานยนต์ และบัตร Gift Voucher ธ.ก.ส. รวมจำนวน 48,119 รางวัล มูลค่ารวมกว่า 479 ล้านบาท
สำหรับการลุ้นโชคครั้งนี้ เป็นการลุ้นโชค 2 ชั้น คือ โชคชั้นที่ 1 รับสิทธิ์ลุ้นรางวัลในระดับภูมิภาค สำหรับลูกค้าที่ชำระหนี้ดอกเบี้ยครบทุก ๆ 1,000 บาท จะได้รับสิทธิ์ในการลุ้นรางวัล โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 1. กรณีเป็นหนี้ปกติและชำระดอกเบี้ยเสร็จสิ้น จะได้รับ 3 สิทธิ์ 2. กรณีเป็นหนี้ปกติและชำระดอกเบี้ยได้บางส่วน จะได้รับ 2 สิทธิ์ และ 3. กรณีเป็นหนี้ค้างชำระ จะได้รับ 1 สิทธิ์ ซึ่งธนาคารจะประมวลผลการรับชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นวัน สะสมเป็นรายไตรมาส ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 – 30 มิ.ย. 2567 และจับรางวัลในเดือนถัดไปของเดือนสิ้นไตรมาส จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 24 ม.ค., วันที่ 24 เม.ย. และ 24 ก.ค. 2567
นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในแต่ละไตรมาส ยังมีโอกาสลุ้นโชคชั้นที่ 2 ในระดับประเทศ จำนวน 5,360 รางวัล มูลค่ากว่า 53.9 ล้านบาท โดยธนาคารจะนำสิทธิ์ที่ได้รับจากโชคชั้นที่ 1 มารวมกับสิทธิ์จากการชำระต้นเงินสะสมตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 – 30 มิ.ย. 2567 มาคำนวณสิทธิ์ในการลุ้นโชคคือ เมื่อชำระต้นเงินครบทุก ๆ 1,000 บาท จะได้รับสิทธิ์ดังนี้ 1. กรณีเป็นหนี้ปกติ จะได้รับ 2 สิทธิ์ และ 2. กรณีเป็นหนี้ค้างชำระ จะได้รับ 1 สิทธิ์ (สูงสุดไม่เกิน 1,000 สิทธิ์/ราย) ซึ่งจะจับรางวัลในวันที่ 31 ก.ค. 2567 โดยในแต่ละรอบการจับรางวัล จะได้รับรางวัลมูลค่าสูงสุดเพียง 1 รางวัลเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อยตามนโยบายรัฐบาล หากมีรายได้และส่งชำระหนี้ ทั้งดอกเบี้ยและต้นเงิน จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการลดภาระและปลดหนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น