ค้นหา

เทคโนโลยี Precision Farming ตัวช่วยสำคัญของเกษตรกรยุคใหม่ “แม่นยำ ลดต้นทุน ประหยัดเวลา”

คุณบุษบา นาคพิพัฒน์ 
เข้าชม 558 ครั้ง

ผู้เขียน ธาวิดา ศิริสัมพันธ์

หากใครที่เป็นแฟนคลับของเทคโนโลยีชาวบ้าน คงจะคุ้นหน้าคุ้นตากับ คุณบุษบา นาคพิพัฒน์ เป็นอย่างดีจากเรื่อง “ทุเรียนน้ำกร่อย” ที่เคยเผ่ยแพร่ลงนิตยสาร และเว็บไซต์เทคโนโลยีชาวบ้านไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งในครั้งนี้คุณบุษบา มีอะไรมาทำให้พวกเราได้ทึ่งกันอีกแล้ว เพราะล่าสุดนอกจากการปลูกทุเรียนบนพื้นที่น้ำกร่อยจนประสบคววามสำเร็จแล้ว คุณบุษบาได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี Precision Farming เข้ามาใช้ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงช่วยประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน และสร้างความสะดวกสบายในการทำสวนให้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

คุณบุษบา นาคพิพัฒน์ เจ้าของสวนทุเรียนน้ำกร่อย อยู่บ้านเลขที่ 65/2 หมู่ที่ 14 ตำบลนายายอาม อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรหัวก้าวหน้า ที่เปิดรับนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาใช้ในสวน เพื่อประหยัดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลา และลดจำนวนแรงงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณบุษบา เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้วที่ทางทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านได้เข้ามาสัมภาษณ์การปลูกทุเรียนน้ำกร่อยของที่สวนไป หลังจากนั้นเมื่อประมาณปลายปี 64 ทางสวนก็ได้เริ่มนำเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตทุเรียนของที่สวน นั่นก็คือเทคโนโลยี Precision Farming เพื่อควบคุมความแม่นยำ ทั้งการให้น้ำ ปริมาณ และระยะเวลาที่ถูกต้อง สั่งการบนสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ของที่ฟาร์ม รวมถึงมีการนำเซ็นเซอร์มาควบคุมเพื่อวัดอุณหภูมิร่วมกับการปล่อยน้ำ เพื่อรักษาอุณหภูมิ รวมไปถึงการให้ปุ๋ยผ่านการให้น้ำ เพื่อประหยัดต้นทุนและเวลาของบุคลากร ทำให้การจัดสรรตารางงานภายในฟาร์ม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยปัจจุบันที่สวนมีแปลงปลูกทุเรียนทั้งหมด 26 ไร่ แบ่งปลูกเป็น 3 แปลง แปลงที่ 1 ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 ตำบลช้างข้าม จำนวน 8 ไร่ แปลงที่ 2 อยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลช้างข้าม จำนวน 4 ไร่ และ แปลงที่ 3 อยู่ที่หมู่ที่ 14 ตำบาลนายายอาม ปลูกทุเรียนพร้อมกับทำเกษตรผสมผสาน ปลูกมังคุด ลองกอง จำนวน 14 ไร่

ซึ่งเทคโนโลยี Precision Farming ถือเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยสานฝันที่ต้องการประหยัดน้ำ เพราะก่อนหน้านี้การรดน้ำในสวนทุเรียน จะเป็นการรดแบบใช้ความรู้สึก คือพอถึงเวลารดน้ำก็รด โดยที่ไม่รู้เลยว่าพืชมีความต้องการน้ำมากน้อยเพียงใด ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ แต่พอได้เริ่มนำเทคโนโลยีการให้น้ำอัจฉริยะมาใช้ ทำให้รู้ว่าควรจะต้องรดน้ำต้นทุเรียนในปริมาณเท่าไหร่

แปลงทุเรียนที่มีการนำเอาเทคโนโลยี Precision Farming เข้ามาใช้

“เมื่อก่อนพอถึงเวลาพี่ก็รดน้ำอย่างเดียว รดแต่ละครั้งนาน 40 นาที ซึ่งความเป็นจริงแล้วสำหรับทุเรียนที่ต้นยังเล็กการให้น้ำวันละ 40 นาที ยังไม่จำเป็น แต่พอได้เอาเทคโนโลยีตัวนี้เข้ามาใช้ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนการให้น้ำ เป็นวันเว้นวัน รดครั้งละประมาณ 30 นาที ประกอบกับการเปลี่ยนขนาดหัวเหวี่ยงน้ำ จากเดิมเคยใช้น้ำ 360 มิลลิลิตรต่อต้นต่อวัน ก็ช่วยลดปริมาณการให้น้ำลงอยู่ที่ 200-250 มิลลิลิตรต่อต้นต่อวัน ช่วยประหยัดน้ำไปได้เยอะมากๆ”

และนอกจากการให้น้ำที่แม่นยำแล้ว ที่สวนได้มีการประยุกต์ระบบการให้ปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำด้วย โดยการให้ช่างเข้ามาติดตั้งระบบเพิ่มเติมในส่วนของการให้ปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำ เพื่อลดต้นทุนค่าปุ๋ย จากเดิมการปลูกทุเรียนบนพื้นที่ 4 ไร่ จะต้องใช้ปุ๋ย 2 กระสอบ หรือประมาณ 100 กิโลกรัม แต่หลังจากที่เปลี่ยนการให้ปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำ สามารถลดปริมาณการให้ปุ๋ยลงมาได้เหลือเพียง 20 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 4 ไร่ อันนี้สามารถช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยไปได้เยอะมากๆ

ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมีโอกาสได้ลิ้มลอง

“เมื่อก่อนจากที่เคยใช้ปุ๋ย 2 กระสอบต่อพื้นที่ 4 ไร่ ตอนนี้ลดลงมาเหลือ 20 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งเป็นผลมาจากการประยุกต์ใช้ปล่อยปุ๋ยไปพร้อมน้ำ รวมถึงการปรึกษากับเซลล์ขายปุ๋ย ในเรื่องของปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละช่วงอายุพืช เซลล์ก็บอกว่าสำหรับทุเรียนต้นยังเล็กให้ปุ๋ยแค่ 2 ขีดก็พอ พร้อมกับบอกวิธีการคำนวณเบื้องต้นมาให้ คือสมมุติว่าปุ๋ย 4 ขีด ทุเรียน 4 ไร่ มีทั้งหมด 180 ต้น ที่สวนปลูกเป็นต้นคู่ ปกติจะต้องให้ 4 ขีด แต่พอเปลี่ยนมาให้ปุ๋ยพร้อมกับน้ำ ก็ให้ลดปริมาณลงมาเหลือ 2 ขีด ก็ทำให้เราประหยัดปุ๋ยไปได้ อันนี้พี่ชอบมาก”

ได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2565

ซึ่งการทำฟาร์มอัจฉริยะเป็นเรื่องของความแม่นยำ เพื่อนำไปสู่การเพาะปลูกพืชที่เข้ากับพื้นที่ บริเวณนั้นๆ ผ่านการตัดสินใจบนข้อมูลที่ถูกต้อง โดยต้องช่วยลดต้นทุน กระบวนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ สร้างมาตรฐานการผลิต ควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ผลผลิตจึงได้ราคาสูงกว่าฟาร์มทั่วไปทุกวันนี้อุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างครอบคลุม เชื่อเถอะว่าการพัฒนาเกษตรไทยจะไม่น้อยหน้าชาติใดแน่นอน

เกษตรแทรค-kasettrack แอปพลิเคชั่น
ยกระดับคุณภาพทุเรียนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากการนำเทคโนโลยี Precision Farming เข้ามาใช้ลดต้นทุนแล้ว คุณบุษบา บอกว่า ที่สวนยังมีการใช้แอปพลิเคชั่นเกษตรแทรค ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่น ที่กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามาช่วย ยกระดับคุณภาพทุเรียนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และหากถามว่าทำไมที่สวนถึงต้องใช้แอปพลิเคชั่นนี้ ก็เพราะว่าตอบโจทย์เกษตรกรในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการทำมาตรฐาน GAP ที่จะต้องมีข้อกำหนด 8 ประการ ซึ่งในแอปพลิเคชั่นเกษตรแทรค มีทั้งหมด 8 ข้อที่ให้เราทำ และนอกเหนือจาก 8 ข้อที่ GAP กำหนดมาแล้ว เกษตรกรสามารถเพิ่มเนื้อหากิจกรรมที่ต้องการเข้าไปได้เลยในแอปพลิเคชั่นนี้

“ตัวอย่างเช่น บัญชีรายรับ-รายจ่าย เราสามารถที่จะเติมเข้าไปว่าในแต่ละวันเราใช้จ่ายอะไปบ้าง ซ่อมอะไรไปบ้าง จ่ายค่าแรงไปเท่าไหร่ ซื้อปุ๋ยยาเท่าไหร่ อันนี้ทำให้เรารู้กระบวนการผลิตเราทั้งหมด และทำให้เรารู้และวางแผนการจัดการทั้งหมดได้ว่า กระบวนการผลิตของเราตรงไหนที่ควรประหยัดต้นทุน หรือตรงไหนที่ควรตัดออก ต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องจดแต่ในสมุดหลายครั้งไม่ได้พกสมุดไปทำให้ไม่ได้จดบันทึกในวันนั้น แต่ถ้าเป็นการจดบันทึกในโทรศัพท์เราถือไปทุกที่ทุกเวลาอยู่แล้ว เราสามารถที่จะหยิบขึ้นมาดูได้ว่า เราหว่านปุ๋ยวันไหน หว่านไปกี่ลูก หมดไปเท่าไหร่ ใช้ไปกี่ต้น ต้นละกี่กรัม อันนี้ทำให้เราจดบันทึกตอนนั้นได้เลย รวมถึงการวางแผนผังสวนทุเรียนของเรา เมื่อก่อนเราไม่เคยรู้เลยว่าได้ผลผลิตเท่าไหร่ต่อต้น แต่พอเรามีแอปพลิเคชั่นตัวนี้ ก็ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าผลผลิตเรามีกี่ลูกต่อต้น ทำให้เราสามารถคำนวณจำนวนผลผลิตได้เบื้องต้น เวลาเราจะไปขาย หรือว่ามีพ่อค้าแม่ค้าติดต่อมาเราก็สามารถบอกเขาได้ว่าเรามีจำนวนผลผลิตเท่าไหร่ ช่วยคาดการณ์ผลผลิตได้ล่วงหน้า เพิ่มช่องทางการตลาดได้ก่อนใคร”

สั่งการผ่านสมาร์ทโฟน

โดยปัจจุบันผลผลิตของที่สวนเน้นส่งให้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเป็นหลักอยู่ 9 สาขา และล่าสุดมีอีกหนึ่งสาขาที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน รวมถึงขายส่งให้พ่อค้าแม่ค้าประจำที่เข้ามารับซื้อถึงสวน จากปากช่อง กรุงเทพฯ ชลบุรี ราชบุรี อยุธยา ปราจีนบุรี และด้วยกระบวนจัดการที่เป็นระบบ มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการรักษาคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท ตลอดทั้งฤดู

เปิดใจรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร

“ด้วยความที่พี่ไม่ใช่เกษตรกรรุ่นใหม่ หลายคนก็สงสัยว่าทำไมพี่ถึงยอมเปิดใจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในสวน ก็ต้องตอบว่าเกิดจากการคลุกคลีที่ทำเกษตรมานาน จึงทำให้รู้ข้อบกพร่องในการทำสวนของตัวเอง ในเรื่องของการใช้น้ำ เพราะที่ผ่านมาทุเรียนต้นเล็กต้นใหญ่เราให้น้ำครั้งละ 40 นาที อันนี้เป็นเรื่องที่ผิดเพราะทุเรียนต้นเล็กกินน้ำนิดเดียว ถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ รวมถึงจากประการณ์ที่เคยเจอวิกฤตภัยแล้งเองกับตัว น้ำไม่เพียงพอ เลยทำให้พี่ต้องกลับมาคิดใหม่ว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการทำเกษตรของเราได้ในอนาคต ซึ่งต่อไปคนจะต้องหันมาใช้เทคโนโลยีตัวนี้เพื่อชดเชยน้ำที่จะหมดไป เพราะด้วยโลกกำลังเผชิญกับเอลนีโญ ลานีญา ปรากฏการณ์ที่มีอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก เพราะฉะนั้นถ้าเราได้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาช่วยอย่างน้อยๆ เราก็รู้แล้วว่าเราไม่ต้องรดน้ำเกินความจำเป็น” คุณบุษบา กล่าวทิ้งท้าย

หากท่านใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 080-778-6283 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : คุณบุษบา นาคพิพัฒน์

ขอบคุณรูปภาพจาก : สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_262331