กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมะนาว และพืชตระกูลส้มในทุกภาคเนื่องจากในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องสภาพอากาศมีความชื้นสูง ซึ่งเหมาะต่อการเกิดโรคแคงเกอร์หรือโรคขี้กลากส้ม
กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมะนาว และพืชตระกูลส้มในทุกภาคของประเทศไทย เนื่องจากในช่วงนี้หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องสภาพอากาศมีความชื้นสูง ซึ่งเหมาะต่อการเกิดโรคแคงเกอร์หรือโรคขี้กลากส้ม อาการบนใบ เริ่มแรกเป็นจุดฉ่ำน้ำ ต่อมาจะขยายใหญ่เป็นแผลจุดนูนสีเหลืองอ่อน ลักษณะฟูคล้ายฟองน้ำ จากนั้นเนื้อเยื่อแผลจะแข็ง มีสีน้ำตาลเข้ม ตรงกลางแผลยุบตัว ขอบแผลยกตัวขึ้น บริเวณรอบๆ แผลปรากฏวงสีเหลืองล้อมรอบ พบอาการของโรคได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังใบ โดยเห็นชัดที่ด้านหลังใบ นอกจากนี้ยังพบอาการของโรคได้บนก้านใบ ทำให้ใบเหลืองร่วงก่อนกำหนด อาการบนกิ่ง ลักษณะคล้ายอาการบนใบ แต่ไม่มีวงสีเหลืองล้อมรอบแผล ต่อมาแผลจะแตก แข็ง เป็นสีน้ำตาล ขยายรอบกิ่ง หรือตามความยาวกิ่ง รูปร่างแผลไม่แน่นอน อาการบนผล ลักษณะคล้ายอาการบนใบ แต่จะเกิดเป็นแผลเดี่ยวๆ มีลักษณะกลมฝังลึกลงไปในผิว แผลจะขยายเป็นสะเก็ดใหญ่ รูปร่างไม่แน่นอน มีวงสีเหลืองล้อมรอบ บางครั้งพบผลปริแตกตามรอยแผล หากเกิดโรคในระยะผลอ่อนจะทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ และถ้าอาการรุนแรงจะทำให้ผลร่วง
สำหรับการป้องกันกำจัด 1. ควรเลือกกิ่งพันธุ์จากแหล่งปลูกที่ไม่มีการระบาดของโรคนี้ หรือไม่นำกิ่งพันธุ์จากต้นที่เป็นโรคไปปลูก และใช้กิ่งพันธุ์ที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ 2. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค และเก็บเศษพืชที่ร่วงหล่นไปทำลายนอกแปลง แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช กลุ่มสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85 % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คิวปรัสออกไซด์ 86.2 % ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77 % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน จำนวน 2-3 ครั้ง
3. ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง 4. กำจัดแมลงพวกหนอนชอนใบ โดยเฉพาะช่วงที่ส้ม มะนาว และมะกรูดแตกใบอ่อน เนื่องจากรอยทำลายของหนอนชอนใบเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายพืช และช่วยส่งเสริมให้อาการโรคลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยพ่นด้วยปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9 % อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน 16 % เอสจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 70 % ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีทอกแซม 25 % ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งหลังใบและหน้าใบ และถ้าพบว่ายังมีการระบาดของหนอนชอนใบให้พ่นซ้ำ