ค้นหา

ปลูกกัญชง สู่การทอผ้าใยกัญชง มรดกวัฒนธรรมชนเผ่าม้งดอยแม่สา

วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง
เข้าชม 770 ครั้ง

ผู้เขียน สาวบางแค 22

วัฒนธรรมชาวเขาเผ่าม้ง ถือว่า “กัญชง” พืชพื้นบ้านเป็นของมงคล และมีวิถีชีวิตผูกพันกับ “กัญชง” ตั้งแต่เกิดจนตาย ชาวม้งลอกเส้นใยจากเปลือกกัญชง ใช้เป็นสายสิญจน์ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ผูกมือให้กับเด็กที่เกิดใหม่ ใช้ในพิธีเข้าทรงเพื่อสื่อสารกับวิญญาณบรรพชน ใช้เปลือกกัญชงมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม สวมใส่ในงานมงคล วันปีใหม่ และในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพื่อเดินทางไปสู่สวรรค์ ชาวม้งยังนิยมใช้ “กัญชง” เป็นเครื่องดื่มแทนใบชา เป็นอาหาร และเป็นยารักษาโรค โดยเคี้ยวเมล็ดสดๆ เพื่อเป็นยาสลายนิ่วและบํารุงเลือด

ชาวม้งใช้ประโยชน์จากกัญชงมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ เปลือกกัญชงมีความเหนียว เมื่อนำมาทอเป็นผืนผ้า จึงมีความเหนียวนุ่มทนทาน ยิ่งใช้ไปนานวัน ผ้าจะยิ่งนุ่มมากขึ้น ต่อมาทางการมีนโยบายห้ามปลูกต้นกัญชงเพราะจัดอยู่ในกลุ่มพืชที่ให้สารเสพติด ชาวม้งจึงไม่มีวัตถุดิบในการผลิต จึงต้องสั่งซื้อผ้าใยกัญชงจาก สปป.ลาว พม่า และจีนยูนนาน เข้ามาใช้แทน

ต้นพันธุ์กัญชง

ต่อมาปี พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ ทรงผลักดันให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาได้ปลูกกัญชง เพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้จากงานหัตถกรรม มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ศึกษาวิจัยสายพันธุ์กัญชงที่มีสารเสพติดต่ำ จนสามารถขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์และปลูกกัญชง เพื่อใช้เส้นใยผลิตเครื่องนุ่งห่มได้ ปัจจุบันกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีอนาคต ทั้งเส้นใย แกน ใบ เมล็ด และช่อดอก สร้างรายได้สูงกว่าพืชเศรษฐกิจตัวอื่นหลายเท่า

ปลูกต้นกัญชงลงแปลง ช่วงต้นฤดูฝน

ผ้าทอใยกัญชง มีคุณสมบัติพิเศษที่โดดเด่นมาก คือสามารถป้องกันรังสียูวีได้ 95 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันไรฝุ่น ป้องกันเชื้อรา ยับยั้งแบคทีเรีย ไม่มีกลิ่นอับ เส้นใยกัญชง 1 เส้น สามารถรองรับน้ำหนักได้ 5-6 กิโลกรัม เส้นใยกัญชงเหนียว ทนทาน แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย 8 เท่า ปรับอุณหภูมิได้ ระบายอากาศได้ดี หากอยู่ในที่หนาวก็จะอุ่น แต่อยู่ในที่ร้อน ช่วยให้ร่างกายมีอุณหภูมิเย็นขึ้น ผลิตเป็นหน้ากากอนามัย สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 และโควิด-19 ได้อีกด้วย สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ วิเคราะห์ มูลค่าตลาดเส้นใยกัญชงในปี พ.ศ. 2567 มีแนวโน้มสูงถึง 1.04 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นโอกาสดีที่จะผลักดันเรื่องการปลูกกัญชงเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประเทศไทยในอนาคต

ต้นกัญชง อายุ 3 เดือนที่รอการเก็บเกี่ยว 

“กัญชง” ของดี บ้านแม่สาน้อย

วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งชุมชนต้นแบบของการปลูก-แปรรูปเส้นใยกัญชงสู่การทอผ้าใยกัญชง ด้วยเอกลักษณ์ลวดลายชนเผ่าม้ง ที่นี่ปลูกกัญชงบนที่ดินของสมาชิกกลุ่มและปลูกบนพื้นที่โครงการหลวง โดยธรรมชาติแล้ว กัญชงเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว ประมาณเดือนพฤษภาคม ทางกลุ่มจะเริ่มทำการไถพรวนดินเพื่อเตรียมปลูกกัญชงโดยใช้เมล็ดพันธุ์กัญชงที่ผ่านการรับรองจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กัญชงปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย ไม่ต้องพรวนดินใส่ปุ๋ยหรือกำจัดวัชพืช ใช้ระยะเวลาปลูกเพียง 3 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้

วิธีตากต้นกัญชง

กว่าจะได้เส้นใยกัญชงมีขั้นตอนการผลิตมากมาย หลังเก็บเกี่ยว จะนำกัญชงมามัดรวมกัน เพื่อสะดวกในการขนย้ายและนำมาตั้งตากแดดเพื่อให้ต้นแห้ง ลอกเส้นใยกัญชงได้ง่าย โดยใช้เวลาตากแดด ประมาณ 7-10 วัน ถ้าแดดดี และ 12-14 วัน ถ้าอากาศชื้น จากนั้นนำกัญชงไปผึ่งลม หลังจากลอกเส้นใยกัญชงแล้วต้องนำมาตำเพื่อให้เส้นใยกัญชงมีความนุ่มไม่แข็งกระด้าง ต้มอีก 30 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ซัก แล้วรีดให้เป็นเส้น สาว ย้อมสีธรรมชาติ ก่อนนำมาปั่นด้วยมือ

การลอกเส้นใยกัญชง

การทอผ้ากัญชง ทำด้วยใจรักเพราะต้องผ่านหลายขั้นตอนกว่าจะได้ทอเป็นผืนผ้า เฉพาะการผลิต “เส้นใยกัญชง” ต้องผ่านกระบวนการทำมือถึง 15 ขั้นตอนเพื่อให้ได้เส้นใยกัญชงที่เหนียวนุ่ม นำมาทอเป็นผืนผ้า นำไปเขียนลายขี้ผึ้งหรือเขียนเทียนให้สวยงามตามอัตลักษณ์ชาวม้งก่อนนำไปย้อมสีธรรมชาติจากครั่ง ไม้ขนุน ประดู่แดง ฯลฯ เพื่อเพิ่มความสวยงาม โดยผ้าแต่ละผืนใช้เวลานาน 3-4 เดือน เป็นงานฝีมือที่มีความประณีตสวยงาม ถูกใจคนไทยและต่างชาติ ทุกเพศทุกวัย

การทอผ้าใยกัญชง 

เพิ่มมูลค่า “กัญชง” ด้วยนวัตกรรมงานวิจัย

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัย แก่ ผศ.ดร.ชนินทร์ มหัทธนชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และคณะ ได้นำนวัตกรรมเครื่องทอผ้าใยกัญชงมาใช้ทดแทนการทอผ้าแบบดั้งเดิมของวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง

ในอดีตสมาชิกวิสาหกิจชุมชนดาวม่างปั่นด้ายด้วยมือ เป็นงานที่หนักและใช้เวลานาน แต่ทุกวันนี้พวกเขาทำงานอย่างสะดวกสบายเพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ผลิตเครื่องปั่นเส้นกัญชงทำให้ทางกลุ่มผลิตเส้นใยได้เร็วขึ้น สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเส้นใย 7-8 เท่าตัว

การเขียนลายขี้ผึ้งหรือเขียนเทียน

ส่วนการทอผ้ากัญชงด้วยกี่แบบดั้งเดิม ต้องใช้ประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะตัว กว่าจะได้ผ้า 1 ผืนต้องใช้เวลาทอหลายวัน แต่ทุกวันนี้ทางกลุ่มมีนวัตกรรมเครื่องทอผ้าใยกัญชงที่ทันสมัย ลดการใช้แรงงานและลดระยะเวลาทำงานไปได้มาก แถมยังเพิ่มผลผลิตผ้าทอใยกัญชงได้อีกเท่าตัว เอื้อต่อการทำงานของสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัยได้อย่างดีแล้วยังเปิดโอกาสให้ลูกหลานซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่ออาชีพของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าใยกัญชง ตามความต้องการของลูกค้าช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าสู่การตลาดเพิ่มขึ้น เช่น ชุดเดรสใยกัญชง เสื้อเอวลอยผ้าใยกัญชงเขียนเทียนตกแต่งลายปักม้ง เสื้อคลุมใยกัญชงจากสีธรรมชาติ หมวกใยกัญชง กระเป๋าปักลวดลาย ฯลฯ พร้อมส่งเสริมการตลาดออนไลน์สู่ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชงเพื่อเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดรองรับการตลาดยุคใหม่ช่วยเพิ่มฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขาย

ผ้าใยกัญชง ผลงานวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง

ขณะเดียวกัน ทีมนักวิจัยได้นำเครื่องปุ๋ยอินทรีย์มาสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งกัญชง เนื่องจากการเก็บเกี่ยวต้นกัญชงในแต่ละครั้ง มีวัสดุเหลือทิ้งจากกัญชงในปริมาณมากถึง 2 ใน 3 ของผลผลิตที่ปลูก วิธีนี้ทำให้การจัดการขยะชุมชน เป็นศูนย์ (Zero waste) ก่อให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) สู่การยกระดับนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนดาวม่างเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เดินเที่ยวป่าชุมชน พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมการปลูกกัญชง การผลิตเส้นใยกัญชง การเดินทางมาชุมชนแห่งนี้สะดวกสบาย ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ มีที่พักโฮมสเตย์ แบบไม่แออัด มาร่วมเรียนรู้และร่วมอุดหนุนสินค้าจากใยกัญชงที่ชาวบ้านปลูกเอง ทำเส้นเอง ทอเอง ขายเองได้ตลอดทั้งปี ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง ไอดีไลน์ : rim_mayura เบอร์โทร. 081-162-1722

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจากเฟซบุ๊ก : ดาวม่าง งานผ้าใยกัญชง

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_264995