โดยทั่วไป เกษตรกรนิยมใช้ถุงพลาสติกดำในการเพาะชำกล้าไม้ เช่น กล้าผัก ไม้ดอก ไม้ผลและยางพารา เมื่อย้ายกล้าไปปลูก มักแกะถุงดำออก มีเศษพลาสติกเหลือทิ้งจำนวนมากที่ยากต่อการย่อยสลาย ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา
ด้วยปัญหาดังกล่าว ทำให้ทีมเยาวชนนักประดิษฐ์ของโรงเรียนบ้านปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เกิดแนวคิดที่จะพัฒนากระถางเพาะชำจากใบยางพารา ที่สามารถย่อยสลายได้เพื่อลดการใช้ถุงดำพลาสติก ลดขยะพลาสติกที่เป็นมลภาวะของโลก และนวัตกรรมนี้อาจสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในอนาคต
หลักการทำงาน
กระถางเพาะชำจากใบยางพาราเป็นกระถางที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ โดยมีอายุการใช้งานประมาณ 3-4 เดือน เมื่อนำต้นกล้าของยางพาราหรือพืชชนิดอื่นๆ ไปเพาะชำในกระถางเพาะชำจากใบยางพารา เมื่อต้องการนำไปปลูกสามารถนำกระถางเพาะชำดังกล่าวลงหลุมปลูกได้เลยทั้งกระถาง โดยไม่ต้องนำต้นกล้าออกจากกระถางเพาะชำ
เนื่องจากกระถางเพาะซำจากใบยางพารา เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ โดยไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งเป็นการสร้างคุณค่าให้กับใบยางพาราแห้ง ขณะเดียวกันนวัตกรรมนี้ยังเป็นแนวทางใหม่ที่ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการปลูกยางพาราอีกด้วย
ผลงานนวัตกรรมนี้ ถูกนำเสนอในเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน โครงการ Thailand New Gen Inventors Awards ในงาน “วันนักประดิษฐ์” จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หากใครสนใจนวัตกรรมนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โรงเรียนบ้านปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เบอร์โทร 045 660 351 และ 0817605852 หรือติดต่อทางอีเมล์ [email protected]