กรมประมงเปิดทาง เรือประมงพื้นบ้านขึ้นทะเบียน ใหม่ กับกรมเจ้าท่า เริ่มตั้งแต่ วันที่ 17 ม.ค.- 15 เม.ย.2567 ยกระดับการคุ้มครอง ภาครัฐดูแล มีสินทรัพย์เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง และสร้างรายได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศกว่า 8,232 ล้านบาท
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เห็นชอบให้กรมประมงเร่งดำเนินการออกหนังสือรับรองให้กับชาวประมงพื้นบ้าน สำหรับรายที่ยังมีการตกหล่นไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนไปตั้งแต่คราวก่อน
ประมง 1.2 หมื่นลำ ได้รับการคุ้มครอง
ซึ่งช่วยให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 12,000 ลำ ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้สิทธิ์การช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเต็มที่ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเร่งผลักดันให้เกิดการนำเรือประมงพื้นบ้าน เรือประมงขนาดเล็ก เข้าสู่ระบบ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านได้รับสิทธิ์จากการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเต็มที่ อาทิ การช่วยเหลือกรณีประสบภัยธรรมชาติฯลฯ
อีกทั้ง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรประมงควบคู่ไปกับความมั่นคงของวิถีการประกอบอาชีพชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งหากมีการนำเรือประมงพื้นบ้านเข้าระบบ จะมีผลผลิตสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงพื้นบ้านเพิ่มขึ้น 84,000 ตัน/ปี รวมมูลค่าปีละกว่า 8,232 ล้านบาท
ขึ้นทะเบียนได้ถึง 15 เม.ย. 67
ดังนั้น กรมประมงจึงได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทย สำหรับเรือประมงพื้นบ้าน พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2567
โดยเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านยื่นขอหนังสือรับรองได้ ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม – 15 เมษายน 2567 ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานประมงจังหวัด / สำนักงานประมงอำเภอท้องที่มีอาณาเขตติดทะเล หรือ ยื่นผ่านช่องทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมลล์) เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขอจดทะเบียนเรือไทยกับกรมเจ้าท่าต่อไปได้ โดยใช้ได้ในกรณีการจดทะเบียนเรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และยังไม่มีทะเบียนเรือไทย หรือ เพื่อทดแทนเรือประมงลำเดิมที่ชำรุด สูญหาย อัปปาง