ค้นหา

เกษตรกรหนุ่มปั้น “เฮราโมน”กาแฟดอยช้างแบรนด์ใหม่ ขายได้โลละ 1,500-2,200 บาท

นายวริศ มันตาวลี
เข้าชม 252 ครั้ง

หนุ่มดอยช้าง ปลูกกาแฟ 15 ไร่ พัฒนากระบวนการผลิตสร้างโรงเรือนระบบ DH&TC ตัดความเสี่ยงเรื่องฝนฟ้าอากาศ-แดดไม่พอ จนได้กาแฟรสชาติดีสุด ตัดเกรด-ติดแบรนด์ “เฮราโมน”ขายได้ทั้งช่องทางออกไลน์-ออนไลน์ กิโลฯละ 1,500-2,200 บาท

ผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟจากทั่วภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา ฯลฯ พากันนำผลิตภัณฑ์กาแฟ ร่วมออกบูธพร้อมประชุมทางวิชาการ ภายในงาน “MFU Coffee Fest 2024” ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)จัดขึ้น ณ อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี ระหว่าง 15-16 มี.ค.67 นี้อย่างคึกคัก

ซึ่งหลายรายมีการพัฒนาการผลผลิตเพื่อให้มีคุณภาพ-ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของตลาด เช่น นายวริศ มันตาวลี เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบนดอยช้าง หมู่ 27 ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เจ้าของแบรนด์ “เฮราโมน” (Heqlaqmoq) เป็น 1 ใน 4 เกษตรกรที่ได้รับรางวัล “MFU BEST COFFEE FARMER” ได้นำผลผลิตกาแฟอะราบิก้าที่มีการพัฒนากระบวนการผลิตจนได้รับรางวัลมาจัดแสดงภายในงานพร้อมกับรายอื่นๆ ด้วย

นายวริศ เปิดเผยว่าในอดีตการผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพทำได้น้อย เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หลังเก็บเมล็ดกาแฟสุกมาแล้วต้องนำไปตากแดด พอฝนตกหรือแดดไม่พอก็จะทำให้ได้ผลผลิตได้น้อยจนไม่เพียงพอต่อความต้องการผู้บริโภคหรืออาจได้กาแฟคุณภาพไม่ดี

ดังนั้นตนจึงใช้เวลาศึกษาและทดลองทำนาน 3 ปีเพื่อตัดปัจจัยเรื่องความเสี่ยงของฝนฟ้าอากาศด้วยการสร้างโรงเรือน DH & TC (DeHumidifier and Temperature Contro) คือการไล่ความชื้นและควบคุมอุณภูมิ เป็นห้องปิดที่ดูดความชื้นและทำให้เมล็ดกาแฟไม่สูญเสียรสชาติไปกับอากาศภายนอก จนได้กาแฟรสชาติดีที่สุด

ทั้งนี้ตนปลูกกาแฟประมาณ 15 ไร่และกรณีที่เป็นเกษตรกรรายย่อยตนถือเป็นเพียงรายเดียวที่ใช้ระบบนี้ทำให้มีผลผลิตปีละประมาณ 5,000 กิโลกรัม ส่งจำหน่ายภายในประเทศทั้งร้านกาแฟและโรงคั่วต่างๆ รวมทั้งจำหน่ายปลีกบนดอยช้างและเฟซบุ๊ก Heramon Farm เฮราโมน ฟาร์ม

นายวริศ กล่าวว่าปัจจุบันตนสร้างโรงเรือน DHTC จำนวน 2 โรงๆ ละ 4 คูณ 8 เมตร เมื่อเก็บผลผลิตกาแฟที่เป็นเมล็ดสดหรือเชอรี่ได้แล้วก็จะนำมาทำความสะอาดและเข้าสู่ห้องเก็บโดยไม่ต้องพึ่งพาแสงแดด เมื่อเมล็ดแห้งได้ที่ก็นำมาแกะเป็นกาแฟกะลาแล้วนำกลับไปในห้องอีกเป็นเวลา 5-7 วัน และทำเป็นกาแฟสารใช้เวลาเก็บในห้องอุณหภูมิ 26-30 องศาเซลเซียส อีก 9-12 วัน ก็จะได้เมล็ดกาแฟคุณภาพดีหลายเกรดออกจำหน่าย เช่น กิโลกรัมละ 2,200 บาท,1,800 บาท และ 1,500 บาท ตามลำดับ ปัจจุบันตลาดยังคงดีและเราก็พยายามทำผลผลิตที่มีคุณภาพเช่นนี้ป้อนตลาดต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายในงานมีนางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และ ศ.ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มฟล.ร่วมกันเปิดงาน และ ดร.อมร โอวาทวรกิจ หัวหน้าหัวหน้าโครงการศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและการจัดการห่วงโซ่คุณค่ากาแฟประเทศไทย มฟล.กล่าวรายงานว่านอกจากการมอบ 4 รางวัลดังกล่าวแล้วยังมีข้อมูลว่าประเทศไทยมีผลผลิตกาแฟอะราบิก้า 11,169 ตันต่อปี ปลูกมากในภาคเหนือตอนบนและมากที่สุดในเชียงราย รวมทั้งมีแนวโน้มการบริโภคกาแฟที่เน้นการผลิตกาแฟที่มีเรื่องราว การนำเอาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการผลิต และการพัฒนากลิ่นรสเพื่อบ่งบอกความเฉพาะของกาแฟทำให้เกษตรกรมีการผลิตกาแฟคุณภาพ.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://mgronline.com/local/detail/9670000023191