นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยถึงผลการดำเนินโครงการร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิตและใช้แหนแดงสายพันธุ์อะซอลลา ไมโครฟิลลา (Azolla microphylla) ไปขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี, สมุทรสงคราม, ระยอง, กาฬสินธุ์ สุรินทร์, พังงา, พัทลุง, กำแพงเพชร และพะเยา พบว่าเกษตรกร 323 ราย สามารถผลิตแหนแดงได้กว่า 40 ตัน
“สุรินทร์ ปลูกข้าว กข 15 ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากไร่ละ 475 กิโลกรัม เป็น 510 กิโลกรัมต่อไร่ พังงา ปลูกข้าว กข 43 ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากไร่ละ 502 กิโลกรัม เป็น 541 กิโลกรัม นอกจากนี้ แหนแดงไม่เพียงช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดินเท่านั้น แต่ยังทำให้ธาตุอาหารพืชในดินบางชนิดเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ผลการวิเคราะห์ดินของจังหวัดพังงา โปแตสเซียม ที่แลกเปลี่ยนได้ จาก 42.06 mg/kg เป็น 43.81 mg/kg แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ จาก 540.60 mg/kg เป็น 739.22 mg/kg แมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ จาก 89.65 mg/kg เป็น 146.78 mg/kg”
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเผยอีกว่า จังหวัดพัทลุงปลูกข้าวพันธุ์ ปทุมธานี 1 การใช้แหนแดงในนาข้าวช่วยร่นระยะเวลาการเก็บเกี่ยวข้าวให้เร็วขึ้นประมาณ 10 วัน ส่วนการนำแหนแดงไปใช้เลี้ยงสัตว์ สามารถลดค่า อาหารของเกษตรกรลงได้หลายราย และการใช้แหนแดงในพืชผักที่ปลูกไว้บริโภคเองในครัวเรือน ส่งผลให้ผักมีลักษณะต้น ใบ เขียว สมบูรณ์ดีขึ้นด้วย
“แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงผลของการใช้แหนแดงในนาข้าวฤดูกาลแรก ยังคงต้องเก็บข้อมูลการตอบสนองของพื้นที่ในฤดูกาลผลิตถัดไป เพื่อให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การยอมรับเทคโนโลยีของเกษตรกรในวงกว้างต่อไป เกษตรกรท่านใดสนใจอยากเรียนรู้เรื่องแหนแดง สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชุน (ศดปช.) 9 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัดข้างต้น หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน” นายรพีทัศน์ กล่าว.