ค้นหา

เทคนิคการผลิตหัวพันธุ์ “มันฝรั่ง” ปลอดโรค

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง เชียงใหม่
เข้าชม 473 ครั้ง

มันฝรั่งเป็นพืชล้มลุกที่เติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดฤดูปลูก ที่ 15-18 องศาเซลเซียส ประเทศไทยปลูกมันฝรั่งได้ดีในช่วงต้นฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคม โดยแหล่งปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดตาก เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา ฯลฯ

เนื่องจากความนิยมในการบริโภคมันฝรั่งแปรรูปยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐมีการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งหลักและหัวพันธุ์ขยายเพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกร เพื่อลดการนำเข้าหัวพันธุ์บางส่วนจากต่างประเทศ ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร และเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพดี ให้มีผลผลิตส่งโรงงานแปรรูป ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในการเป็นผู้ผลิตหัวมันฝรั่งสด เพื่อการแปรรูปให้เพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูปในระยะยาว

สายพันธุ์มันฝรั่งสำหรับสายพันธุ์มันฝรั่งที่ปลูกในไทย สามารถแบ่งตามการใช้ประโยชน์ได้ 2 ประเภท คือ

  1. มันฝรั่งพันธุ์บริโภคสด เป็นมันฝรั่งที่ปลูกเพื่อนำหัวมันฝรั่งไปปรุงอาหารเพื่อการบริโภค ได้แก่ พันธุ์สปันตา (Spunta) อายุปลูกถึงเก็บเกี่ยว 100-120 วัน เจริญเติบโตเร็ว ทรงต้นสูง ทรงพุ่มแน่น ใบเล็ก ทนแล้ง ได้ดี ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี และ พันธุ์บินท์เจ (Bintje) เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการบริโภคสดนำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ เจริญเติบโตเร็ว เปลือกหนาเรียบ ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่ไม่ทนทานต่อโรค
  2. มันฝรั่งพันธุ์โรงงานสำหรับการแปรรูป เป็นการปลูกเพื่อนำหัวมันฝรั่งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ มันฝรั่งทอดหนา ได้แก่ พันธุ์เคนนีเบค (Kennebec) เป็นพันธุ์สำหรับแปรรูป เป็นมันทอดแผ่นบาง (Potato chips) เป็นพันธุ์ดั้งเดิมจากสหรัฐอเมริกา อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 150 วัน ใบใหญ่ พุ่มหนา หัวค่อนข้างใหญ่ เป็นรูปไข่ ผิวสีเหลืองอ่อนและเรียบ เนื้อสีขาว ให้ผลผลิตสูงปานกลาง พันธุ์แอตแลนติก (Atlantic) มีถิ่นกำเนิดในสหรัฐอเมริกา อายุเก็บเกี่ยว 100-200 ปี ทรงพุ่มหนา ใบเขียวเข้ม หัวกลมค่อนข้างเล็ก เนื้อสีขาว ให้ผลผลิตสูง ปัจจุบันเป็นสายพันธุ์มันฝรั่งที่มีการปลูกมากที่สุดในไทย

ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง

การผลิตต้นอ่อนปลอดเชื้อจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะดำเนินการในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน จากนั้นจะนำต้นอ่อนที่ได้ไปผลิตเป็นต้นแม่พันธุ์และขยายต้นปักชำในเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม นำต้นแม่พันธุ์ไปปักชำในระบบแอโรโปนิก และในโรงเรือนกันแมลงเพื่อผลิตหัวพันธุ์ G0 ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กุมภาพันธ์ จากนั้นนำหัวพันธุ์ G0 ที่ได้ไปปลูกในแปลงปลูกในฤดูกาล หรือปีถัดไป เพื่อผลิตเป็นหัวพันธุ์ G1 ในช่วงฤดูแล้งเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิต ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และในช่วงฤดูฝน จะมี 2 ช่วงการปลูก คือ ช่วงแรกตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม เก็บเกี่ยว ผลผลิตในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่วนช่วงที่สองปลูกในเดือนสิงหาคม-กันยายน และเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

การผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง มีขั้นตอนดังนี้

  1. การผลิตต้นอ่อนปลอดเชื้อ ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยนำยอดอ่อนจากต้นปลอดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ซึ่งตรวจด้วยวิธีแอนตี้ซีลั่ม เลี้ยงขยายจำนวนด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ใช้อาหารสังเคราะห์ เมื่อพัฒนาเป็นต้นอ่อนจึงถ่ายลงขวดอาหารวุ้น ครบ 8 เดือน จะได้ต้นอ่อนจำนวนมาก ประมาณ 200 ต้นต่อ 1 ขวด
  2. การผลิตต้นแม่ นำต้นอ่อนปลูกลงในกระบะ กว้าง 80 เซนติเมตร ยาวขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของโรงเรือน ส่วนวัสดุปลูกเป็นดินร่วน ผ่านการอบไอน้ำฆ่าเชื้อโรค ที่อุณหภูมิ 80-100 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เลี้ยงให้ต้นสมบูรณ์จนถึงระยะมีใบ 5-6 ใบ ระยะนี้เรียกว่า ต้นแม่ โรงเรือนต้นแม่เป็นโรงเรือนปลอดเชื้อโรค และป้องกันแมลงเข้าทำลายได้
  3. ผลิตต้นปักชำ โดยตัดยอดจากต้นแม่ ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีข้อ 2-3 ข้อ จุ่มรอยแผลลงในน้ำยาฆ่าเชื้อ ก่อนนำลงปลูกที่แปลงในโรงเรือนปลอดเชื้อเช่นเดียวกัน วัสดุปลูกใช้ส่วนผสม ทรายหยาบ : ขี้เถ้าแกลบ อัตรา 1 : 1 ปลูกแล้ว 14 วัน จะได้ต้นปักชำที่สมบูรณ์
  4. การผลิตหัวพันธุ์ จี 0 (GO) นำต้นที่ได้จากการปักชำ ปลูกลงแปลงในโรงเรือนปลอดเชื้อ ขนาดแปลงและวัสดุปลูกเช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 3 ใส่ปุ๋ยรองพื้น สูตร 15-15-15 อัตรา 3 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 18 ตารางเมตร คลุกเคล้าลงในวัสดุปลูก แล้วจึงปลูกต้นกล้าที่ได้จากการปักชำ ใช้ระยะปลูก 5×20 เซนติเมตร รดน้ำพอชุ่ม จากนั้นให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้งก็พอ อายุครบ 20 วัน ใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 18 ตารางเมตร ด้วยวิธีโรยข้างแถวแล้วกลบด้วยวัสดุปลูกเดียวกัน ให้น้ำสัปดาห์ละครั้งเดียว ฉีดสารกำจัดเชื้อราและแมลง ครบ 90-110 วัน จะได้หัวมัน จี 0 ก่อนนำไปขยายพันธุ์ต่อไป ต้องตรวจการปลอดเชื้ออีกครั้ง เมื่อแน่ใจว่าไม่มีโรคให้ดำเนินการขั้นตอนต่อไป
  5. ผลิตหัวพันธุ์ จี 1 (G 1) โดยนำหัวมัน จี 0 ปลูกลงในแปลงสภาพไร่นาที่มีการไถดะและไถแปร ตากดิน เก็บวัชพืชเรียบร้อยแล้ว ใส่ปุ๋ยรองพื้น 15-15-15 อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรก ใส่รองพื้นก่อนปลูก ส่วนครั้งที่สอง ใส่หลังปลูกไปแล้ว 20 วัน พร้อมพูนโคน ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอพอชื้น แต่อย่าให้แฉะ และงดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน ระยะเก็บเมื่ออายุ 90-110 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวให้เลือกต้นที่ไม่สมบูรณ์ หรือเป็นโรคเผาทิ้งไป
  6. ผลิตหัวพันธุ์ จี 2 (G 2) ปฏิบัติทุกขั้นตอนเหมือนกับการผลิตหัวพันธุ์ จี 1 แต่เพื่อให้การขยายพันธุ์ได้เร็วขึ้น กรมวิชาการเกษตรจะอนุญาตให้เอกชนทำหน้าที่ผลิต หัวพันธุ์ จี 2 ภายใต้การควบคุมของนักวิชาการอย่างใกล้ชิด หัวพันธุ์ จี 2 ที่ได้ จะจำหน่ายให้กับเกษตรกรนำไปปลูกในไร่นาต่อไป

ต้องการซื้อหัวพันธุ์ ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง เชียงใหม่ ตู้ ป.ณ. 54 อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ 50230 โทร. 053-432-275 ในวันและเวลาทำการ

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_276923