ค้นหา

นวัตกรรมวัสดุ‘กระดาษ’ ชูแนวคิด‘waste’เพิ่มมูลค่า ลดขยะเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

ศูนย์วัสดุสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
เข้าชม 177 ครั้ง

เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร วัชพืชที่ไม่มีคุณค่า หากนำมาแปรรูปนำมาวิจัย พัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นวัสดุใหม่ ๆ นอกจากจะเพิ่มทางเลือกในด้านวัสดุ อีกผลลัพธ์สำคัญคือลดปริมาณขยะส่งผลดีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุและวัชพืช

ศูนย์วัสดุสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน (silo@SSRU) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แหล่งรวบรวมตัวอย่างวัสดุและแหล่งเรียนรู้วัสดุที่นี่เน้นการนำวัสดุทางธรรมชาติ สิ่งเหลือใช้เศษวัสดุภาคการเกษตร งานหัตถกรรม รวมถึงภาคอุตสาหกรรมนำมาแปรรูปเพื่อเป็น วัสดุที่คำนึงถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“กระดาษ” หนึ่งในวัสดุสำคัญที่นำมาใช้งานได้หลากหลายมิติ กระดาษทำมือจากเส้นใยธรรมชาติ วัตถุดิบเส้นใยที่ได้จากเศษเหลือทิ้ง สิ่งไร้มูลค่าและผลพลอยได้จากผลผลิตทางการเกษตร ผ่านการแปรรูปด้วยกระบวนการทางงานหัตถกรรม จากงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาพบหลายชนิดมีความโดดเด่น ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นภดล สังวาลเพ็ชร ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบสร้างสรรค์และศิลปกรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ ผู้ดูแลศูนย์วัสดุสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนให้มุมมอง กล่าวถึงกระดาษในเชิงหัตถกรรม ที่วิจัยพัฒนา แนวคิดการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุและวัชพืชและการลดปัญหาขยะว่า ปัจจุบันเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญ

“กระดาษ เป็นที่ทราบกันผลิตจากต้นไม้ เยื่อไม้ต่าง ๆ ซึ่งเศษวัสดุเหลือใช้ภาคการเกษตร เศษวัสดุที่ต้องทิ้งเราได้นำกลับมาสร้างประโยชน์ สร้างนวัตกรรมที่มุ่งสู่ความยั่งยืนพัฒนาต่อยอดกระดาษ ในเชิงหัตถกรรมเรื่อยมาซึ่งมีความหลากหลาย เป็นทางเลือก เป็นวัสดุทดแทนกระดาษ อย่างเช่น กระดาษจากสาหร่ายในนากุ้ง ผลงาน มงคล อิงคุทานนท์ ศิษย์เก่าสาขาการออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ร่วมกับงานวิจัยของอาจารย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการทำกระดาษ”

กระดาษจากสาหร่ายนากุ้ง เป็นการนำเศษวัชพืชที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในนากุ้ง นำมาพัฒนาซึ่งสาหร่ายสีเขียว เหล่านี้มีความเป็นเส้นใยสูง แต่การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการทำนากุ้ง นํ้าเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ฯลฯ จึงนำมาพัฒนาเป็นกระดาษด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ สามารถใช้เป็นวัสดุทดแทนในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งในกระดาษที่ผลิตสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างปัญหาให้กับชุมชน

ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบสร้างสรรค์และศิลปกรรม ผศ.นภดล อธิบายเพิ่มอีกว่า นอกจากกระดาษจากสาหร่ายในนากุ้ง ยังมี กระดาษจากฟางข้าว ผลพลอยได้ทางการเกษตรจากนาข้าวที่ช่วยเพิ่มประโยชน์การใช้สอย ฟางข้าวที่เป็นเศษเหลือทิ้งกระดาษที่ได้สามารถเทียบเคียงได้กับกระดาษในงานหัตถกรรม มีคุณสมบัติความโปร่งแสง ยืดหยุ่น พับ ดัด งอได้ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลากหลาย ฯลฯ การนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าจึงเป็นอีกทางเลือกช่วยลดการเผาทิ้ง

ผักตบชวา นำมาแปรรูปเป็นกระดาษอีกแนวทางช่วยลดปริมาณขยะ ทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มอีกทางหนึ่ง กระดาษผักตบชวามีคุณสมบัติทดแทนกระดาษในงานหัตถกรรม สามารถนำไปใช้สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ดี และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และจากที่คณะเรามีความร่วมมือกับชุมชนกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้ทดลองนำ ดอกดาวเรือง นำมาทำกระดาษ โดยนำดอกที่คัดทิ้งนำกลับมาสร้างประโยชน์เพิ่มมูลค่า

แกนกัญชง หลังจากนำส่วนอื่น ๆ ไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นส่วนใบ เปลือกแต่สำหรับแกนซึ่งมีความแข็งได้นำมาพัฒนาใช้ประโยชน์ต่อ หรือแม้แต่ ใบอ้อย ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่นำเส้นใยมาพัฒนาต่อยอด นำมาทำเป็นกระดาษ โดยมีลวดลายสวย เพิ่มประโยชน์การใช้วัสดุเหลือทิ้งดังกล่าวได้หลากหลายขึ้น

นอกจากนี้ยังมี กระดาษกล้วยไม้ กระดาษที่มีคุณสมัติเหนียว โปร่งแสงและมีพื้นผิวเฉพาะตัว กระดาษดังกล่าวมีที่มาจากการแปรรูปต้นกล้วยไม้ตัดดอก โดยเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง กล้วยไม้ไม่สามารถออกดอกได้สมบูรณ์จะถูกกำจัดทิ้งกลายเป็นขยะมูลฝอย ต้องใช้ระยะเวลาย่อยสลายการแปรรูปเป็นกระดาษจึงไม่เพียงลดปริมาณขยะ แต่ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกทางหนึ่ง

“พืชที่มีเส้นใยทุกชนิดสามารถนำมาทำเป็นกระดาษในงานหัตถกรรมได้ แม้จะเป็นกระดาษเหมือนกันแต่จะมีความต่างในเรื่องความแข็ง ความอ่อนนิ่มของเส้นใย กระดาษทำมือมีความเป็นธรรมชาติของกระดาษ โดยนวัตกรรมกระดาษสามารถพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถกระดาษได้อีกมาก”.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/3415661/