“ไหล่ยก อกตั้ง หนามหด ก้นป้าน” คือนิยามของลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย อ.แม่ใจ จ.พะเยา ขึ้นชื่อว่าเป็นลิ้นจี่คุณภาพมาตรฐาน GI มาพร้อมรสชาติอร่อย หวานอมเปรี้ยว เมื่อผนวกกับเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร จึงสร้างความประทับใจให้แก่ผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยมีช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม และมีอายุในการเก็บรักษาสั้น ต้องเก็บผลผลิตไว้ในอุณหภูมิต่ำจึงจะสามารถรักษาคุณภาพได้ ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดด้านการขนส่งสู่ผู้บริโภค ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงวิเคราะห์ปัญหา พร้อมเสนอแนวทางการแก้ไขด้วยเทคโนโลยี – นวัตกรรม ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ในพื้นที่ ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา นำไปสู่การเป็นเกษตรมูลค่าสูง โดยมุ่งผลิตลิ้นจี่พรีเมียม ยกระดับการสร้างรายได้ สอดรับนโยบาย ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’
นายนฤมิต สมัคร เกษตรจังหวัดพะเยา เผยว่า ปัจจุบันกลุ่มแปลงใหญ่ลิ้นจี่ ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา ผลิตลิ้นจี่พรีเมียมได้เพียงร้อยละ 1 ของผลผลิตทั้งหมด ประกอบกับช่วงการเก็บเกี่ยวสั้น อีกทั้งขาดนวัตกรรมในการยืดอายุเก็บรักษาลิ้นจี่คุณภาพ ดังนั้น หากสามารถนำนวัตกรรมในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวมาใช้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา เพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง เพิ่มสัดส่วนผลผลิตพรีเมียมได้มากขึ้น นับเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และเป็นการเพิ่มโอกาสด้านการตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกร
ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มแปลงใหญ่เผชิญปัญหาลิ้นจี่เกรดรอง – เกรดคละ (เกรด B เกรด C หรือลิ้นจี่ผลร่วง) ซึ่งจำหน่ายได้เพียงกิโลกรัมละ 10 – 20 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่ำ อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์พรีเมียม โดยส่วนใหญ่ยังเป็นการขายส่งล้งในพื้นที่ รวมถึงเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จึงขาดทักษะในการทำตลาดในรูปแบบใหม่
ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมุ่งขับเคลื่อนให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น (ตามเป้าหมาย 3 เท่าในปี 2570) โดยส่งเสริมการนำเทคโนโลยี – นวัตกรรมเพื่อเพิ่มสัดส่วนผลผลิตลิ้นจี่พรีเมียม พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุน ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลิ้นจี่ตามมาตรฐาน GI ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา (พรีเมียม) รวมถึงนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการหลังเก็บเกี่ยวมาปรับใช้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาลิ้นจี่ให้นานมากยิ่งขึ้น
“หนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา คือ ส่งเสริมเทคโนโลยีการห่อผลลิ้นจี่และลดการใช้สารเคมี ด้วยการใช้ถุงตาข่ายห่อผล ที่สามารถนำถุงตาข่ายกลับมาใช่ใหม่ได้ในปีถัดไป ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณ – คุณภาพ นับเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ผลิต ผู้บริโภค รวมถึงลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง”
พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าลิ้นจี่ตกเกรดรอง – เกรดคละ เป็นผลิตภัณฑ์จากลิ้นจี่พรีเมียม เช่น น้ำลิ้นจี่สกัด ไวน์ สุรากลั่น เป็นต้น และเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายลิ้นจี่รูปแบบออนไลน์ พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ทายาทเกษตรกรด้านการตลาด พร้อมผลักดันลิ้นจี่ฮงฮวย อ.แม่ใจ จ.พะเยา ให้มีชื่อเสียงด้วยซอฟต์ พาวเวอร์ ไปจนถึงจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับลิ้นจี่พรีเมียมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ยังคงเดินหน้า ‘โครงการพะเยาโมเดล’ สู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐาน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสม พร้อมส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรในการสร้างความเข้มแข็ง รวมถึงเชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอีกทางหนึ่ง
ด้าน นายชลัมพล ปัฐวี รองประธานแปลงใหญ่ลิ้นจี่ ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา กล่าวว่า พื้นที่ปลูกลิ้นจี่ของ ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา มีธาตุอาหารโดดเด่น ส่งผลให้ลิ้นจี่ที่ปลูกนั้นมีรสชาติเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค ทั้งนี้ ในอดีตลิ้นจี่มีราคาขายไม่สัมพันธ์กับเงินลงทุน ดังนั้น จึงปรึกษากับชาวสวนลิ้นจี่รายอื่นๆ จัดตั้งแปลงใหญ่ลิ้นจี่ อ.แม่ใจ โดยเน้นในเรื่องของคุณภาพเพื่อนำออกสู่ตลาดให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ
ปัจจุบันกลุ่มแปลงใหญ่ลิ้นจี่ อ.แม่ใจ ประกอบด้วย แปลงใหญ่ลิ้นจี่ ทุกหมู่บ้าน ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา แปลงใหญ่ลิ้นจี่ ทุกหมู่บ้าน ต.เจริญราษฎร์ อ.แม่ใจ จังหวัดพะเยา แปลงใหญ่ลิ้นจี่ หมู่ 7,8 ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา แปลงใหญ่ลิ้นจี่ ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ผลิตลิ้นจี่คุณภาพห้วยป่ากล้วย และวิสาหกิจชุมชนสามัคคีลิ้นจี่ห้วยเคี่ยน โดยทั้งหมดมีพื้นที่สวนลิ้นจี่รวมกว่า 9,600 ไร่ ซึ่งในปี 2566 ผลผลิตออกสู่ตลาดมากถึง 4,611 กิโลกรัม ทว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค
ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมุ่งผลักดันลิ้นจี่สู่สินค้ามูลค่าสูง รวมถึงยกระดับการรับรองตามมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด พัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตร สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีห่อผล (BCG) ด้วยการใช้ถุงตาข่ายห่อผลป้องกันโรคและแมลง สีของผลผลิตสดสวย นับเป็นลดการใช้สารเคมี – ต้นทุน อีกทั้งสามารถนำถุงตาข่ายกลับมาใช่ใหม่ได้ในปีถัดไป พร้อมพัฒนาระบบรวบรวม คัดแยก ตัดแต่ง ตลอดจนการขนส่งที่ได้มาตรฐาน
รวมถึงส่งเสริมการใช้ศัตรูธรรมชาติและสารชีวภัณฑ์ในการควบคุมกำจัดศัตรูพืช ทดแทนการใช้สารเคมี พร้อมพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรตามปฏิทินการผลิต มุ่งผลิตสินค้าลิ้นจี่คุณภาพเกรดพรีเมียม ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และรวมกลุ่มกันผลิต-จำหน่ายเพื่อให้เกิดอำนาจในการต่อรองราคามากขึ้น
“จากเมื่อก่อนราคาขายให้กับล้ง หากมีขนาดเท่ากับลิ้นจี่พรีเมียมจะได้กิโลกรัมละ 30 บาท แต่ตอนนี้ได้ทำเป็นเกรดคุณภาพพรีเมียม จะได้มีตั้งแต่ 100 บาท 120 บาท และ 150 บาท จากนั้นจึงต่อยอดมาเรื่อยๆ ผลตอบรับจากผู้บริโภคนั้นดีมาก ส่งผลให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อผู้บริโภคและความต้องการของตลาด ทั้งหมดนี้นี่คือเกรดคุณภาพที่เรานำออกไปสู่ผู้บริโภค”
‘ลิ้นจี่แม่ใจ’ ถือเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของ อ.แม่ใจ จ.พะเยา รวมถึงเป็นพืชที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งดำเนินการภายใต้นโยบาย ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ นำไปสู่การเป็นเกษตรมูลค่าสูง พร้อมแก้ไขปัญหาด้านการผลิตสินค้าเกษตร นำร่องเป็นต้นแบบในการผลิตสินค้าเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดพะเยาต่อไปในอนาคต