พาณิชย์เปิดยอดส่งออกข้าวเม.ย.67 ปริมาณเฉียดล้านตัน ขยายตัว64.2% ส่งให้ยอดส่งออกรวม 4 เดือนไทยส่งออกข้าวได้แล้ว 3.3 ล้านตัน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกข้าว เดือนเม.ย. 2567 เท่ากับ 608 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 91.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน จากปัจจัยดีมานด์ขยายตัวได้ดีในตลาดอิรัก อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐ และจีน ด้านปริมาณส่งออก เดือนเม.ย.ไทยสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 933,498 ตัน หรือมีปริมาณเกือบ 1 มีอัตราขยายตัว 64.2% ส่วนปริมาณสะสม 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) 3,398,144 ตัน ขยายตัว 29.1% ขณะที่มูลค่าอยู่ที่ี 2,219 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 53.8%
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมมีแผนจะปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2567 จากเดิมกำหนดไว้ที่ 7.5 ล้านตันเป็น 8 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณส่งออกสะสม 4 เดือนเกิน 3 ล้านตันแล้ว ยังเหลือเวลาอีก 8 เดือนการส่งออกข้าวปีนี้น่าจะสูงอย่างมีนัยสำคัญ
ราคาขายสูงทำมูลค่าส่งออกข้าวโต91%
นอกจากปริมาณส่งออกที่เพิ่มตามดีมานด์ตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อินโดนีเซียแล้ว ขณะที่ซัพพลายจากตลาดสำคัญๆ เช่น บราซิลที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและเม็กซิโก ที่ต้องการเผชิญปัญหาเดียวกัน ต่างเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นถือว่าเป็นราคาที่ดีที่ส่งให้มูลค่าการส่งออกเม.ย.สูงถึง 91%
โดยราคาส่งออกอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยดีมานด์ตลาดที่ยังสูงเพื่อลดความกังวลความมั่นคงอาหาร และปริมาณข้าวในตลาดขณะนี้ยังไม่สูงมากเป็นเพียงข้าวจากการเก็บเกี่ยวรอบสุดท้ายของฤดูกาลผลิตนาปรังปี 2566 ส่วนผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาดสูงสุดจะมาจากฤดูกาลผลิตนาปี2567/68ที่เริ่มเพาะปลูกแล้วงช่วงพ.ค.-มิ.ย.และจะเก็บเกี่ยวช่วง พ.ย.-ธ.ค. นี้ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจะต้องประเมินอีกครั้งว่าสถานการณ์ตลาดจะเป็นดีอย่างในปัจจุบันนี้อยู่หรือไม่
“ตลาดข้าวซึ่งเป็นสินค้าเกษตรต้องประเมินปัจจัยสภาพอากาศเป็นสำคัญ เบื้องต้นคาดว่าปีนี้น้ำฝนจะดีทำให้ผลผลิตสูงหากดีมานด์ตลาดยังดีอยู่ก็จะทำให้การส่งออกโดยรวมดีด้วย ส่วนราคายอมรับว่ายังมีความผันผวนอย่างมากต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป”
สำหรับราคาตลาดซึ่งส่งสัญญาณความผันผวนสามารถประเมินได้จาก ที่อินโดนีเซียเปิดการประมูลซื้อข้าวปริมาณ 3 แสนตันเมื่อเร็วๆนี้เป็นการเปิดให้หลายประเทศเสนอราคาขาย ทั้งไทย ที่ 9 หมื่นตัน ที่เหลือเป็นโควตาจากเวียดนาม ปากีสถานและเมียนมา แต่ราคาข้าวของไทยมีการเสนอสูงห่างจากรายอื่นๆโดยเฉพาะเวียดนามมากกว่า 10 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้ไทยไม่ได้รับโควตาซื้อข้าวล็อตดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบสาเหตุที่เวียดนามโค้ดราคาขายต่ำกว่าไทยเป็นอย่างมาก แต่เบื้องต้นคาดว่าผลผลิตของไทยและเว่ียดนามรวมถึงประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้น่าจะได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญไม่มาก และยังได้รับอานิสงส์จากการเข้าสู่ปรากฎการณ์ลานีญาในขณะนี้ทำให้ปริมาณผลผลิตน่าจะสูง
จับตาปัจจัยกระทบราคาใกล้ชิด
ส่วนปัจจัยที่จะกระทบราคาข้าวจากนี้ นอกจากปริมาณผลผลิตที่อาจจะสูงแล้ว ยังมีผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างอินเดียที่ยังไม่ม่ีความชัดเจนว่าจะคงมาตรการห้ามส่งออกข้าวต่อไปหรือไม่ หากยังไม่มีการส่งออกราคาก็อาจจะยังสูงต่อไปเพราะซัพพลายหายไปจากตลาดแต่หากกลับมาส่งออกก็จะส่งผลต่อราคาทันทีหากดีมานด์ตลาดในช่วงนั้นๆไม่ได้สู่สอดคล้องกับปริมาณซัพพลายที่อยู่ในตลาด
“ยังมีความไม่แน่นอนในตลาดข้าวอีกมากพอสมควรแต่เมื่อดูยอดส่งออก 4 เดือนแรกปีนี้แล้ว ที่ทำได้มากถึง 3.3 ล้านตันก็มองว่าน่าจะมีโอกาสที่การส่งออกปีนี้จะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 7.5 ล้านตัน โดยอาจจะต้องปรับเพิ่มเป็น 8 ล้านตันได้”
ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ข้าวนาปีปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมี.ค.2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.310 ล้านไร่ ผลผลิต 26.308 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 422 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 0.62% ผลผลิต 25.569 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.89% ผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.18% โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี และในปี 2567
สภาพอากาศหนุนผลผลิตดี
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือน ก.พ.2567 ว่าสภาพภูมิอากาศเดือน มี.ค.-พ.ค. 2567 จะอยู่ในสภาวะเอลนีโญ แต่มีแนวโน้มสูงที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2567 และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนก.ค. ถึงเดือนก.ย. 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว
สภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2566 ถึง เม.ย. 2567 ทำให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเพาะปลูกและระยะเจริญเติบโต เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่ปล่อยว่างเมื่อปี 2566 สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ คาดการณ์ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือน ก.ค. 2567 – พ.ค.2568 โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพ.ย.ปริมาณ 16.884 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็น 64.18 %ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด