จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่างๆ ในปี ค.ศ.2015 ได้มีการประชุมเจรจาข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เรียกว่า ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการรักษาค่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เพิ่มขึ้น ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ในปี ค.ศ. 2021 ประเทศไทยได้ประกาศเจตจำนงยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ด้วยการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ซึ่งภาคการเกษตรได้มีการบรรจุอยู่ในเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เล็งเห็นว่ากรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีภารกิจเกี่ยวกับพืช ทั้งทางด้านศึกษาวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง จึงได้กำหนดพันธกิจให้ครอบคลุมแนวนโยบายดังกล่าว ด้วยการ สนับสนุนการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน และจัดตั้ง กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 โดยมี ดร.สมคิด ดำน้อย เป็น ผู้อำนวยการกองฯ และหนึ่งในกลไกที่เป็นแรงจูงใจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญคือ คาร์บอนเครดิต ทั้งนี้กระบวนการเพื่อให้ได้มาของคาร์บอนเครดิตจนสามารถซื้อขายได้ในตลาดโดยเฉพาะในภาคเกษตรตามหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานค่อนข้างยุ่งยาก กรมวิชาการเกษตรจึงได้ผลักดันการดำเนินงานพัฒนาการจัดการเพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตจากการผลิตพืช ด้วยการศึกษาค่าฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานปกติ (Business as usual) และจัดทำแนวทางเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ส่วนต่างสำหรับขอรับรองคาร์บอนเครดิต โดยยึดหลักข้อกำหนดวิธีการ ตามกรอบ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VER) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)
จากการดำเนินงานในพืชเศรษฐกิจหลัก 6 ชนิด ประกอบ มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน และมะม่วง โดยใช้พื้นที่ต้นแบบในศูนย์วิจัยของกรมวิชาการเกษตร ที่มี ดร.ธีรวุฒิ ชุตินันทกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร เป็นหัวหน้าโครงการ ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรมวิชาการเกษตร ประกอบด้วย สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน สถาบันวิจัยพืชสวน กองการยาง และ กองพัฒนาระบบและพัฒนามาตรฐานสินค้าพืช ได้มีการพัฒนาโครงการ T-VER โดยการจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ (PDD) ตามข้อกำหนดของ อบก. ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้เริ่ม ให้ผู้ประเมินภายนอกฯ (VVB) เข้าตรวจสอบความใช้ได้ (Validation) ของโครงการมันสำปะหลัง ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแก้ข้อเสนอโครงการให้สอดคล้องตามข้อกำหนด และตามคำแนะนำของผู้ประเมิน และอีก 5 ชนิดพืชที่เหลือ จะดำเนินการเพื่อขอรับการตรวจสอบความใช้ได้ในลำดับถัด ๆ
ดร.ธีรวุฒิ ชุตินันทกุล กล่าวว่า การพัฒนาโครงการในพืชเศรษฐกิจหลัก ที่กรมวิชาการเกษตรดำเนินการถือเป็นโครงการแรก ๆ สำหรับภาคเกษตร ซึ่งค่อนข้างมีรายละเอียดและมีความซับซ้อนจากกระบวนการผลิตพืช รวมถึงต้องมีหลักฐานและการบันทึกข้อมูลเพื่อแสดงในเชิงประจักษ์สำหรับยืนยันถึงการดำเนินงานที่ผ่านมา และการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ที่จะขอรับรองคาร์บอนเครดิตดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นการยากหากเกษตรกรรายย่อยจะดำเนินการเอง อาจต้องรวมกลุ่มของเกษตรกรและมีหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกเข้าช่วยพัฒนาโครงการ
นอกจากนี้ในกระบวนการขอรับรองคาร์บอนเครดิตจะมีในส่วนของค่าใช้จ่ายสำหรับจ้างผู้ตรวจประเมินฯ (VVB) สำหรับตรวจสอบความใช้ได้ การทวนสอบ (Verification) และที่ปรึกษาในการพัฒนาโครงการ ที่ค่อนข้างสูง ทางนายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงได้มีแนวทางในการพัฒนาบุคลากรของกรมวิชาการเกษตรเพื่อเป็นผู้ตรวจประเมินฯ (VVB) โดยการส่งเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง ของ อบก. ซึ่งในปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร VVB แล้ว จำนวน 21 คน พร้อมนี้เพื่อให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยตรวจรับรองเองได้ จึงต้องเตรียมหน่วยงานเพื่อขอรับรองระบบ ISO 14065 จาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถรับรองได้ภายในปีนี้ โดยทางกรมวิชาการเกษตรจะสามารถเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนา หรือ ตรวจประเมินโครงการภายใต้กรอบของ T-VER ตามข้อกำหนดของ อบก. ต่อไป ดร.ธีรวุฒิ กล่าวเสริม
ทั้งนี้ เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร ที่หมายเลข 02-5790151-7