ค้นหา

มก.เปิดตัวเป็นศูนย์กลาง AI ด้านเกษตร ขับเคลื่อนภาคการผลิตทางอุตสาหกรรมชั้นสูง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เข้าชม 291 ครั้ง

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.67 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงาน KU Digital and AI Platform for Agriculture, Food, Biodiversity and Natural Resources โครงการยกระดับขีดความสามารถระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายชีวภาพสำหรับการบูรณาการภายใต้พลวัตรของเศรษฐกิจบีซีจีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4 nontriai.ku.ac.th/ ณ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน KU Digital and AI Platform for Agriculture, Food, Biodiversity and Natural Resources โครงการยกระดับขีดความสามารถระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายชีวภาพสำหรับการบูรณาการ ภายใต้พลวัตรของเศรษฐกิจบีซีจีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4 โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับ และ รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ กล่าวรายงาน

โครงการยกระดับระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านการเกษตร ฯ เป็นโครงสร้างพื้นฐาน National Al for Agriculture Food & Biodiversity (AI Agri-Food-(Biodiverse) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับการเกษตร อาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ และทำนายผลที่อาจเกิดขึ้น เพื่อต่อยอดสู่ภาคการผลิตหรืออุตสาหกรรมชั้นสูงอย่างเต็มรูปแบบ ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้คุ้มค่า อีกทั้งเครือข่ายกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินงานวิจัยแบบสหสาขาวิชา (multidisciplinary)

โครงการนี้ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มาตั้งแต่ปี 2564  โดยได้เงินทุนสนับสนุนโครงการ  62 ล้านบาท  มุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นศูนย์กลางการจัดการ AI ด้านการเกษตร มีงานวิจัยที่ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงเพื่อผลักดันสร้างอัลกอริทึม (Algorithm) สร้างกระบวนการและประยุกต์ใช้งานเพื่อตอบโจทย์งานวิจัย ต่อยอดอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์และวางรากฐานพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว BCG Economy มุ่งหวังผลสัมฤทธิ์เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ BCG (เกษตรและอาหาร การแพทย์สุขภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พลังงานและวัสดุ ชีวภาพ) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เกิดการพัฒนานวัตกรรมข้อมูลและระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับบีซีจีด้านเทคโนโลยีสุขภาพแพทย์และเกษตรอาหาร

ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากวิกฤติภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลัน ทำให้ผลผลิตของพืช สัตว์ และจุลชีพทางการเกษตรมีผลผลิตตกต่ำและขาดความต้านทานต่อโรค การใช้เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ การวิจัย การเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ ผลักดันขับเคลื่อนจะช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเกษตรให้สูงขึ้น

ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของ บพข. ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ ประกอบกับจุดเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ดำเนินงานวิจัยแบบสหสาชาวิชาโดยนักวิจัยที่เชี่ยวชาญ มีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่เข้มแข็ง มหาวิทยาลัยมีความภูมิใจและยินดีร่วมผลักดันโครงการฯ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นศูนย์กลางด้านการจัดการ AI ทางด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายชีวภาพสำหรับการบูรณาการของประเทศต่อไป

รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสนับสนุนในส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การบริหารจัดการ หรือ Operation Cost การจัดการด้านทุนวิจัย เพื่อผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้งานเพื่อตอบโจทย์งานวิจัย โดยมีเป้าหมายเกิดการใช้งานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และต้องการความร่วมมือจากนักวิจัยเพื่อผลักดันโครงการอีกเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เห็นความสำคัญของเทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) ซึ่งไม่เพียงวิเคราะห์ข้อมูล แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการคาดการณ์และวางแผน การใช้ AI ในการพยากรณ์และการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับอุปสรรคทางเกษตร เช่น การคาดการณ์สภาพอากาศ การเรียนรู้จากข้อมูลประวัติศาสตร์ของผลผลิตและการเจริญเติบโตของพืช เพื่อช่วยตัดสินใจการจัดการแปลงนาและการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการสนับสนุนโครงการจากหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันงานด้านการเกษตร และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเสริมสร้างการเกษตรที่ยั่งยืนและสร้างประสิทธิภาพ เพื่อเอาชนะความท้าทายที่เราเผชิญในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

รศ.ยืน ภู่วรวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรยายพิเศษเรื่อง KU Digital and AI Platform for Agriculture Natural Resources เพื่อประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติ มีความสำคัญสรุปได้ดังนี้

ชีวิตของคนเราได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้นโดยใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งก็เป็นการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและเอไอ เช่น ใช้ค้นหาชื่อดอกไม้รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ เราจะใช้ประโยชน์จาก AI ได้ ก็ต้องมีการใส่ข้อมูล Input เข้าไปและก็ต้องฝึกเทรนด้วย มีความคล้ายกับการสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักแบ่งแยกประเภทหรือจัดหมวดหมู่ของสิ่งต่าง ๆ

เราสามารถใช้ AI มาตอบโจทย์ภาคการเกษตร อาหาร และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ภูมิอากาศ น้ำท่วม ภัยแล้ง ดินเสื่อมโทรม สูญเสียความหลากหลายชีวภาพ โรคระบาดของพืชและสัตว์ การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เท่าเทียม ความยากจน เป็นต้น มหาวิทยาลัยต้องเล่นกับข้อมูลมหาศาลอย่างรวดเร็ว เราต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมาก ต้องมีระบบการจัดเก็บ ใช้ AI มาประมวลผลและนำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดฐานการพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน  

“AI ไม่น่า Disrupt คนปลูกผักได้ แต่คนปลูกผักที่ใช้ AIจะ Disrupt คนปลูกผักที่ไม่ใช้”

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข.  บรรยายเรื่อง การสนับสนุน “โครงการยกระดับขีดความสามารถระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายชีวภาพสำหรับการบูรณาการภายใต้พลวัตรของเศรษฐกิจบีซีจีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4” จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า บพข. บริหารจัดการทุนและความร่วมมือเพื่อให้ประเทศมีความสามารถทางการแข่งขัน ช่วยขับเคลื่อน IGNITE THAILAND ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืนเพราะเราตระหนักว่านวัตกรรมมีความสำคัญยิ่งและการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล เราจึงต้องใช้แพลตฟอร์มการเกษตรให้เกิดประโยชน์ เป็นเกษตรยุคใหม่ที่มีความแม่นยำ เป็นธุรกิจการเกษตรที่ Smart และ Sustainable เราต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาประเทศ ถ้าคุณทำได้หรือคุณชนะ ประเทศก็จะชนะด้วย

ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข.

กล่าวว่าเนื่องจากดิจิทัลมาดิสรัปทุกสิ่งและประเทศไทยเราก็บริโภคเทคโนโลยีอย่างมาก ฉะนั้นต้องหาทางทำให้เทคโนโลยีเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกับประเทศของเราด้วย เพราะข้อมูลมีมูลค่ามหาศาล เราต้องมาช่วยพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน มาร่วมกันขับเคลื่อน IGNITE THAILAND ไม่ปล่อยให้โครงสร้างพื้นฐานอยู่นิ่งเฉย ต้องนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา ใช้ AI แก้ปัญหาต่าง ๆ

ในงานสัมมนาภาคบ่าย มีกรณีศึกษาที่เป็นตัวอย่างการใช้ปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 5 กรณีศึกษา ได้แก่

กรณีศึกษา I : การออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กรณีศึกษา

กรณีศึกษา II : การศึกษาจีโนมพืช เพื่อวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรม วิวัฒนาการ และปรับปรุงสายพันธุ์พืชเศรษฐกิจ โดย ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

กรณีศึกษา III : การใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์เพื่อการปรับปรุงพันธุกรรมและการผลิตในปศุสัตว์ : เส้นทางสู่การเกษตรที่ยั่งยืนในเศรษฐกิจ BCG โดย รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กรณีศึกษา IV : การพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการเกษตรภายใต้ข้อจำกัดของข้อมูล กรณีศึกษาในโรคพืช โดย รศ.ดร. ธีรสิทธิ์ เกษตรเกษม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กรณีศึกษา V : ไมโครไบโอมพืชเพื่อช่วยการเกษตรและความท้าทายของปัญญาประดิษฐ์ โดย  ศาสตราจารย์ ดร.อรินทิพย์ ธรรมชัยพิเนต รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้สนใจสามารถรับชมกรณีศึกษาดังกล่าวได้ที่ Nontri Live  https://live.ku.ac.th/?p=9888  และสามารถเข้าไปศึกษาและทดลองใช้งานศูนย์กลางการจัดการ AI ด้านการเกษตรฯ ได้ที่ nontriai.ku.ac.th/ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อนให้เกิดความสำเร็จกลายเป็นศูนย์กลางด้านการจัดการ AI ทางด้านการเกษตร อาหาร และความหลากหลายชีวภาพสำหรับการบูรณาการของประเทศอย่างแท้จริง

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/539413