เกษตรกรเตรียมรับมือโรคเหง้าเน่าในขิง แนะหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นขิงที่เริ่มแสดงอาการ ให้ขุดต้นไปเผา ทำลายนอกแปลงปลูกทันที
แนะเกษตรกรผู้ปลูกขิงให้เฝ้าระวังโรคเหง้าเน่า อาการเริ่มแรกใบจะเหี่ยวม้วนเป็นหลอดสีเหลือง และจะลุกลามจากส่วนล่างขึ้นไปยังส่วนปลายยอดจนแห้งตายทั้งต้น บริเวณโคนต้นและหน่อที่แตกออกมาใหม่มีลักษณะฉ่ำน้ำสีน้ำตาลเข้มถึงดำ เมื่อผ่าลำต้นตามขวาง จะพบเมือกแบคทีเรียไหลซึมออกมาเป็นสีขาวขุ่น ลำต้นเน่า และหลุดออกจากเหง้าได้ง่าย อาการบนเหง้ามีลักษณะฉ่ำน้ำสีคล้ำ ต่อมาเหง้าจะเน่าในที่สุด
เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นขิงที่เริ่มแสดงอาการของโรคเหง้าเน่า ให้ขุดต้นไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อสาเหตุโรค จากนั้น ให้โรยด้วยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุด เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ สำหรับในแปลงที่มีการระบาดของโรค หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เกษตรกรเก็บส่วนต่างๆ ของพืชที่เป็นโรค นำไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูกทันที
การป้องกันกำจัดโรคเหง้าเน่าในฤดูปลูกถัดไป เกษตรกรควรเลือกพื้นที่ในการปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และควรทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี เกษตรกรควรเตรียมดิน โดยไถพรวนดินให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะสามารถช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก กรณีในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค ก่อนปลูก ให้รมดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคด้วยการโรยยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80:800 กิโลกรัมต่อไร่ จากนั้น ให้ไถกลบและรดน้ำให้ดินมีความชื้น ทิ้งไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ จึงเริ่มปลูกขิง อีกทั้งให้เลือกใช้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของเชื้อ เช่น พืชตระกูลขิง มะเขือ มันฝรั่ง พริก และถั่วลิสง รวมถึงควรสลับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค