ค้นหา

ดีป้าปั้น ‘นักบินโดรน’ เพื่อการเกษตร นำร่อง 1,500 คน สร้างแต้มต่อด้านดิจิทัล

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
เข้าชม 159 ครั้ง

ดีป้า เดินหน้าศูนย์พัฒนาทักษะการบิน การออกใบอนุญาต และการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร 5 แห่งทั่วประเทศ หวังปั้นนักบินโดรนมากกว่า 1,500 คน และช่างซ่อมบำรุงโดรนอีกกว่า 100 คนในระยะเวลา 3 ปี คาดพัฒนาทักษะเกษตรกรและกลุ่มชุมชนทั่วประเทศ

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) โดย ดีป้า มุ่งส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล และยังผลให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างทั่วถึง

ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ดีป้า จึงมีมติเห็นชอบข้อเสนอโครงการศูนย์พัฒนาทักษะการบิน การออกใบอนุญาต และการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร โดย บริษัท พาวเวอร์ อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด ที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลทั้งภาครัฐและเอกชน (depa Digital Infrastructure Fund for Private & Public Investment)

ศูนย์พัฒนาทักษะการบิน การออกใบอนุญาต และการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรถือเป็นการดำเนินการภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) โดยจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมนักบินและช่างซ่อมบำรุงโดรน ซึ่งสามารถออกใบรับรองเพื่อขอใบอนุญาตนักบินโดรน และให้บริการขึ้นทะเบียนโดรน จำนวน 5 แห่งในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ประกอบด้วยอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เกิดระบบ Academy and Licensing Platform รวมถึงหลักสูตรฝึกอบรมโดรนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ภายในศูนย์แบ่งเป็นพื้นที่การสอนภาคทฤษฎีและรับฟังการบรรยาย พื้นที่จัดแสดงและจำหน่ายโดรน/อะไหล่ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ dSURE จาก ดีป้า ศูนย์กลางการจัดหาพื้นที่ฉีดพ่นทางการเกษตรให้กับผู้บังคับโดรนในเครือข่าย พื้นที่ให้บริการเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator), Data Center ที่มีระบบควบคุมและติดตามการบินโดรนแบบเรียลไทม์ และเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อสามารถนำข้อมูลมาใช้เป็น Big Data พื้นที่ออกใบรับรองการฝึกอบรมและควบคุมโดรนเพื่อใช้ขอใบอนุญาตนักบินโดรน และพื้นที่ให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโดรน

“หลักสูตรที่จะเกิดขึ้นจะช่วยยกระดับทักษะนักบินโดรนมากกว่า 1,500 คน และยกระดับทักษะช่างซ่อมบำรุงโดรนไม่น้อยกว่า 100 คนภายในระยะเวลา 3 ปี พร้อมกันนี้ ศูนย์พัฒนาทักษะการบิน การออกใบอนุญาต และการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศให้เข้มแข็ง”

นอกจากนี้ ยังพัฒนาทักษะเกษตรกรและกลุ่มชุมชนทั่วประเทศด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการเพาะปลูก นำไปสู่การเพิ่มรายได้ครัวเรือน ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งผลให้เกษตรกรและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1130604