ค้นหา

โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ ‘ผลักดันไทยเป็นครัวสีเขียวของโลก’

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
เข้าชม 160 ครั้ง

โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนผลักดันไทยเป็นครัวสีเขียวของโลกและศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพของเอเชีย

ข้อมูลจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า ประไทยเข้าร่วมการประชุม St. Petersburg International Economic Forum (SPIEF) ครั้งที่ 27 ซึ่งมีผู้แทนกว่า 130 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์การประชุม Ekspoforum นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย
 
โดย นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย ได้ร่วมอภิปรายในการประชุม Ecological Horizons 2030: Investing in Circular Economy ภายใต้หัวข้อ “Investing in Circular Economy” ว่า ประเทศไทยได้นำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) มาใช้เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจ BCG

เป็นการผสมผสานแนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งด้านสังคมและการบูรณาการเศรษฐกิจ โดยปรับเปลี่ยนและประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นของไทย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เปลี่ยนขยะให้เป็นความมั่งคั่ง ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เน้นย้ำ ประเทศไทยมุ่งที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่สมดุลและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนใน 5 ด้านที่ไทยโดดเด่นและมีศักยภาพ ได้แก่

  1.  อาหารและเกษตรกรรม
  2.  บริการทางการแพทย์และสุขภาพ
  3. พลังงานชีวภาพ วัสดุชีวภาพ และชีวเคมี
  4. การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  5. เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะสอดคล้องกับความพยายามของไทยที่จะ “เป็นครัวสีเขียวของโลกและศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพของเอเชีย”

สำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจสีเขียว ผู้แทนการค้าระบุประเทศไทย เน้นหลักการในการบริหารจัดการของเสียและมลพิษ และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์และวัสดุ รวมถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะช่วยปรับปรุงระบบการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกันจะสร้างมูลค่าในทุกระดับของกระบวนการผลิตและการบริโภค เพื่อให้บริหารจัดการทรัพยากรและนำมาใช้ได้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด
 
รัฐบาลไทยพร้อมส่งเสริมให้ธุรกิจและ SMEs พัฒนารูปแบบการรีไซเคิลจากขยะเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงนำนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและบรรจุภัณฑ์แบบหมุนเวียนมาใช้ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนและสร้างเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการจัดการขยะจะนำไปสู่โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้อย่างไร

ทั้งนี้ ภาคส่วนสาธารณะจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ประชาชน ชักจูงให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิถีชีวิตเพื่อให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น และส่งเสริมความสมดุลระหว่างกิจกรรมของมนุษย์และธรรมชาติ ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของประชาชนให้ไปในทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย และภาคเอกชนสามารถนำมาตรการปฏิรูปขยะมาใช้ในสายการผลิตโดยใช้แนวคิดขยะเป็นศูนย์ รีไซเคิล และนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1130686