วันที่ 13 มิ.ย.67 นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2558 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายสำคัญในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอพุนพิน และสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนให้เกษตรกรในพื้นที่ เกิดความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาระบบการผลิต การบริหารจัดการ เกษตรกรได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ พื้นที่ได้รับการฟื้นฟูจากปัญหาทำเลที่ทำกินขาดความอุดมสมบูรณ์ โดยมี นายสมพนธ์ ไทยบุญรอด เป็นวิทยากรเจ้าของศูนย์ฯ ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ด้าน การผลิตพืชผักปลอดภัย และการใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) ให้กับเกษตรกรที่สนใจ ต่อมาจึงเกิดแนวคิดรวมตัวกันจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ผักบางท่าข้ามขึ้นในปี 2560 แก้ไขปัญหาต่างคนต่างทำ ดำเนินการผลิตพืชผักปลอดภัยเพื่อจำหน่าย และจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด แปลงใหญ่ผักบ้านบางท่าข้าม ในปี 2564 เพื่อดำเนินกิจกรรมผลิตพืชผัก เกษตรกรสมาชิกได้รับรองมาตรฐาน GAP ทุกแปลง โดยผลผลิตคุณภาพส่งจำหน่ายให้กับห้างโลตัสทั่วภาคใต้ คู่ค้าเอกชน ตลาดค้าส่ง และพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่น
ด้าน นายสมพนธ์ ไทยบุญรอด ประธานแปลงใหญ่ผักบ้านบางท่าข้าม กล่าวว่า แปลงใหญ่ผักบางท่าข้าม ปัจจุบันมีสมาชิก 58 ราย พื้นที่เพาะปลูกรวม 643 ไร่ ผลิตผักปลอดภัยมาตรฐาน GAP รวมทั้งสิ้น 19 ชนิด (ปลูกเฉลี่ย 9 ชนิดต่อครัวเรือน) ได้แก่ ผักบุ้งจีน คะน้า กวางตุ้ง กวางตุ้งไต้หวัน มะระจีน ผักกาดหอม ผักชีไทย บวบเหลี่ยม พริกขี้หนูยอดสน ฟักทอง มะนาว ถั่วฝักยาว ผักชีฝรั่ง แตงกวา แตงร้าน ตะไคร้ โหระพา ฟักเขียว และคะน้ายอด ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา ราคารับซื้อผลผลิตของกลุ่มเฉลี่ยต่อกิโลกรัมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 – 70 ทุกชนิดพืช ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรกรแปลงใหญ่ที่จำหน่ายผลผลิต มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยมีรายได้เฉลี่ย 15,000 – 60,000 บาทต่อเดือน สร้างรายได้ให้กับชุมชนไม่ต่ำกว่าปีละ 4,000,000 บาท
“แปลงใหญ่ผักบ้านบางท่าข้าม มีการดำเนินงานที่โดดเด่น บริหารจัดการกลุ่มด้วยหลักคุณธรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยเกษตรกรสมาชิกมีการจัดทำแผนการผลิตผักรายบุคคล การผลิตผักปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ การจัดการผลผลิตในโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สดตามมาตรฐาน GMP และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) การใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช เทคนิคการปลูกผักในโรงเรือน ซึ่งช่วยควบคุมปริมาณแสงและความชื้น ควบคู่กับควบคุมแมลงศัตรูพืช และการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงาน ตลอดจนการบริหารจัดการผลผลิตแบบครบวงจร และมีตลาดรับซื้อที่แน่นอน โดยทางกลุ่มจำหน่ายตรงให้กับห้างโลตัส และคู่ค้าเอกชนอื่น ๆ นอกจากนี้ทางกลุ่มมีแผนการดำเนินงานในอนาคต ได้แก่ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาด้านแรงงาน ขยายช่องทางการจำหน่าย สร้างเครือข่ายผู้ซื้อ และเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยกระบวนการแปรรูปผลผลิต และการพัฒนากระบวนการสู่มาตรฐานที่สูงขึ้นอีกด้วย” นายสมพนธ์ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับชุมชนบางท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากทางภาคกลางตอนใต้ ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี และจังหวัดนครปฐม หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า คนเมืองใน ได้มาจับจองพื้นที่แหล่งทำมาหากินและตั้งถิ่นฐานอย่างจริงจังในบริเวณนี้ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2505 ด้วยเหตุที่ชุมชนเป็นกลุ่มคนต่างถิ่นย้ายมา พื้นที่ที่จับจองได้นั้นจึงอยู่ในทำเลที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพในการทํามาหากินตํ่า กล่าวคือ เป็นพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าชายเลน เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ด้วยพื้นที่แห่งนี้เป็นบริเวณลุ่มนํ้า 2 สาย ได้แก่ แม่นํ้าตาปีและแม่น้ำพุมดวงไหลมาบรรจบกันก่อนออกสู่ทะเล จึงมีการประกอบอาชีพที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
นั่นคือ เกษตรกรรม ชุมชนมีการปลูกพืชผัก พืชไร่ และไม้ผล ตลอดระยะเวลา 60 กว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรประสบกับปัญหาในการประกอบอาชีพมากมาย ทั้งจากวิกฤตธรรมชาติ และวิกฤตเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกตํ่า รายจ่ายสูงขึ้น รายได้กลับลดลง ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของเกษตรกรในชุมชนมาโดยตลอด ซึ่งจากการเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอพุนพิน และสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้เกษตรกรมีพืชผักที่ปลอดภัยไว้บริโภคและสามารถจำหน่ายสร้างรายได้ ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นต้นแบบชุมชนที่เข้มแข็งให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง