ค้นหา

“ยางพาราไทย” เสี่ยงสูง เจออียูใช้มาตราการ EUDR เข้มข้นธ.ค.นี้

ทีมวิเคราะห์ข้อมูลจากธนาคารกรุงไทย,ไทยพีบีเอส (Thai PBS)
เข้าชม 173 ครั้ง

“กรุงไทย”เผยกม.สินค้าปลอดตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) มีผลบังคับใช้ 30 ธ.ค.นี้ ชี้ยางพารา 1 ใน 7 สินค้า รับกระทบสูงสุด เหตุพื้นที่เพาะปลูกเข้าหลักเกณฑ์ฯมีน้อย -ป่าไม้เสี่ยงสูงต่อการบุกรุก

วันนี้ (11 มิ.ย.2567) ทีมวิเคราะห์ข้อมูลจากธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Regulations: EUDR) หรือ กฎหมายที่เกี่ยวกับลดการผลิตและการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการตัดไม้ทำลายป่า และทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของป่า

มีผลบังคับใช้ในสินค้า 7 ชนิด ได้แก่ วัว กาแฟ โกโก้ ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และ ไม้รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. 2566 แต่ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม

อีกทั้งยังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล เพื่อระบุความเสี่ยงด้านการตัดไม้ทำลายป่าของประเทศต้นทาง ที่ส่งออกสินค้า ที่อยู่ภายใต้มาตรการมายัง EU

โดยในช่วงปลายปีนี้คณะกรรมาธิการยุโรป จะประกาศรายชื่อประเทศตามความเสี่ยงด้านการตัดไม้ทำลายป่า 3 ระดับ คือ ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงมาตรฐาน และความเสี่ยงต่ำ โดยในแต่ละกลุ่มประเทศจะถูกตรวจสอบว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขของ EUDR หรือไม่

สำหรับการนำเข้าสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการจากประเทศที่ถูกระบุว่ามีความเสี่ยงต่ำ จะมีการสุ่มตรวจ 1 % ของจำนวนผู้ประกอบการที่นำสินค้ามาจำหน่ายใน EU ขณะที่การนำเข้าจากประเทศที่ถูกระบุว่ามีความเสี่ยงมาตรฐานและสูงจะถูกสุ่มตรวจที่ 3 % และ 9 % ตามลำดับ อย่างไรก็ตามมาตรการ EUDR จะมีผลในทางปฏิบัติ วันที่ 30 ธ.ค.2567

สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ใน EU และจะบังคับใช้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SME) ภายในวันที่ 30 มิ.ย.2568 แม้ในระยะแรกของมาตรการจะเริ่มบังคับใช้ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำธุรกิจใน EU แต่ในมุมมองของประเทศต้นทางที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าทั้ง 7 ชนิด ไปยัง EU มาตรการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกทุกรายในทุกขนาดธุรกิจ

สำหรับยางพาราไทย เป็น1 ใน 7 สินค้าที่ได้รับผลกระทบ เพราะพื้นที่ปลูกยางพาราของไทยที่ตรงตามหลักเกณฑ์ของมาตรการ EUDR ยังมีน้อย แม้ว่าพื้นที่ปลูกยางพาราของไทยส่วนใหญ่กว่า 25 ล้านไร่ หรือ 83.3 % ของพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ จากทั้งหมด 30 ล้านไร่ จะได้รับการยืนยันว่าไม่ได้มีการบุกรุกป่า

แต่จากเงื่อนไขสำคัญของ EUDR ไม่เพียงกำหนดว่าสินค้าภายใต้มาตรการต้องปลอดการตัดไม้ทำลายป่าเท่านั้น แต่ยังต้องมาจากกระบวนการผลิตที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต เช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายแรงงานและสิทธิมนุษยชน กฎหมายสิ่งแวดล้อมและภาษี เป็นต้น

หากอ้างอิงพื้นที่สวนยาง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ EUDR อย่างมาตรฐานการจัดการป่าอย่างยั่งยืนของ Forest Stewardship Council (FSC) และ Program for the Endorsement of Forest Certification (PEFC) พบว่า พื้นที่สวนยางของไทยที่ได้รับการรับรองจาก FSC และ PEFC มีจำนวนเพียง 6.4 แสนไร่ หรือคิดเป็นเพียง 2.1 % ของพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ

ปัจจุบันการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตยางพารา เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำหรับการตรวจสอบและประเมินที่มาของสินค้า รวมทั้งได้พัฒนาระบบ Thai Rubber Trade ซึ่งเป็นระบบการซื้อขายยางพาราที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผลผลิต รวมทั้งหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่สอดคล้องกับมาตรการ EUDR เช่น ไม่มีการบุกรุกทำลายป่าไม้ รวมทั้งมีการใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน เป็นต้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการยางไทย

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่า ผู้ประกอบการยางพาราของไทย มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการ EUDR มากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในสินค้าอีก 6 ชนิด จาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยัง EU และ 2ความพร้อมของผู้ประกอบการ

ยางพาราเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปยัง EU มากที่สุดในบรรดาสินค้า 7 ชนิดสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มยางพาราจากไทยไปยัง EU ในปี 2566 ที่มีมูลค่ารวมกัน 1,322 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 48,305 ล้านบาท คิดเป็นกว่า 93.4 % ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการจากไทยไป EU

ขณะที่สินค้าอีก 6 ชนิด มีมูลค่าการส่งออกรวมกันเพียง 94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3,438 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 6.6 %

นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มยางยานยนต์ มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อเทียบกับสินค้ายางพาราในกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากมีมูลค่าการส่งออกไปยัง EU สูงที่สุดเมื่อเทียบกับสินค้ายางพาราในกลุ่มอื่นๆ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สินค้ากลุ่มยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น รวมถึงถุงมือยางมีสัดส่วน 29.2 % และ 16.0 %

นอกจากนี้ ไทยยังส่งออกยางยานยนต์ไปยังตลาด EU คิดเป็น 9.7 % ของการส่งออกยางยานยนต์ไปทั่วโลก รองจากสหรัฐอเมริกา สะท้อนให้เห็นว่าการส่งออกยางยานยนต์ของไทยยังคงพึ่งพาตลาด EU อยู่มาก ดังนั้น ผู้ประกอบการยางยานยนต์ จะต้องเร่งเตรียมพร้อมกับการประกาศใช้มาตรการ EUDR อย่างจริงจังสิ้นปีนี้

“หาก EUDR มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ ผู้ประกอบการยางไทยมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบทั้งการผลักภาระต้นทุนในการทำ Due Diligence ของผู้นำเข้าฝั่ง EU มายังผู้ประกอบการไทย และ ปริมาณส่งออกที่ลดลง จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกสินค้ายางพาราไปยัง EU”

อย่างไรก็ตามในระยะยาวภาครัฐควรมีบทบาทในการยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้สอดรับกับบริบทโลกที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลของมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับมาตรการทางการค้าและความท้าทายอื่นๆ ในอนาคต

สำหรับมาตรการ EUDR ที่กำลังจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในสิ้นปีนี้ ทางหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะ กยท. ควรเร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ EUDR ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการบังคับใช้มาตรการนี้อย่างจริงจัง

รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการหันมาซื้อ-ขายยางผ่านระบบ Thai Rubber Trade เพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดการเอกสารสิทธิที่ดินตามกฎหมาย สนับสนุนการรวมกลุ่ม เป็นต้น

และกยท. ควรสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการยางของไทย ได้รับการรับรองมาตรฐานจัดการป่าไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าไม้จากองค์กรระดับสากล ซึ่งจำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุนทั้งด้านข้อมูลและเงินทุน โดยอาจต้องมีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thaipbs.or.th/news/content/340925